วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แนวคิดของธุรกิจก่อนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

อ้างอิงจากหนังสือ "รู้ทันแนวคิดและปรัชญาของ VAT" โดย อจ.ดำริ ดวงนภา


แนวคิดของธุรกิจก่อนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำถาม ที่ถามกันบ่อยๆว่า กำลังจะเริ่มประกอบธุรกิจหรือได้ประกอบธุรกิจแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่มควรจะมีหลักหรือวิธีคิดพิจารณาเพื่อการตัดสินใจอย่างใดว่าควรจะจดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษี มูลค่าเพิ่มหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนขอแนะนำท่านผู้อ่านหรือท่านผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
ประการแรกท่านควรทราบก่อนว่า ใครที่กฎหมายกำหนดให้เป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อทราบแล้วให้ท่านสำรวจตัวเองด้วยว่า ประเภทและลักษณะธุรกิจของท่านที่ประกอบการอยู่ในขณะนี้ อยู่ในบังคับของกฎหมายที่จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

ใครเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตามกฏหมายภาษี (ประมวลรัษฎากร) ผู้ประกอบการ (ม.77/1(5)) ที่้ต้องจดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเข้าองค์ประกอบต่อไปนี้

1. เป็นผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะประกอบการในรูปแบบของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองมรดก บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือหน่วยงานอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่
2. มีการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักร (ในประเทศไทย)
3. การขายสินค้าหรือให้บริการนั้นเป็นการกระทำในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ (ทำเป็นอาชีพจริงๆ)
4. มีรายรับ (รายได้) เกิน 1,800,000 บาทต่อปี (เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 เป็นต้นไป กฎหมายเดิมกำหนดไว้ที่รายได้เกิน 1,200,000 บาท ต่อปี) คำว่า “ปี” หมายความว่า

(ก) ในกรณีผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้นับตามปีปฏิทิน (การนับปีเพื่อการคำนวณรายได้ให้นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม ในปีเดียวกัน ไม่นับคร่อมปี) เว้นแต่ในกรณีที่เริ่มประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่เริ่มประกอบกิจการถึงวันสิ้นปีปฏิทิน


(ข) ในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล ให้นับตามรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่ในกรณีที่เริ่มประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เริ่มนับตั้งแต่วันเริ่มประกอบกิจการจนถึงวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี

5. ต้องไม่เป็นผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ขายพืชผลการเกษตร ขายสัตว์ ขายเคมีภัณฑ์สำหรับพืชหรือสัตว์ ขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน กิจการขนส่งให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ บริการของวิชาชีพอิสระ (อ่านเพิ่มเติมในมาตรา 81 แห่งประมวลรัษฎากร)

กรณีที่ลักษณะของการประกอบการของท่านครบองค์ประกอบตาม 1-5 กฏหมายถือว่าเป็นผู้ประกอบการแล้วแม้มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฏหมายที่ต้องจดทะเบียนแล้ว แต่ไม่ได้จดทะเบียนเข้าระบบ จะมีแต่ความรับผิด และไม่มีสิทธิที่จะได้รับคืนภาษีซื้อ หรือเรียกเก็บภาษีขาย (ออกใบกำกับภาษี) จากการขายสินค้าหรือบริการ สรุปก็คือ มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าภาษี ค่าปรับ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มเพียงประการเดียว เมื่อได้สำรวจตัวเองแล้ว ถ้าพบว่า ธุรกิจของท่านครบตามองค์ประกอบข้างต้น ท่านควรจดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มทันที (ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายได้ครบ 1.8 ล้านบาท) มิฉะนั้นจะมีความผิดและเสียค่าปรับย้อนหลัง


ความสำเร็จในการวางแผนภาษีมูลค่าเพิ่ม

หลักการทั่วไปในการวางแผนภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีประเภทใดก็ตาม ที่เป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มนักบริหารภาษี ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการวางแผนจัดการด้านทรัพย์สิน การวางแผนการลงทุน การวางแผนด้านรายรับ และวางแผนรายจ่าย รวมถึงการวางแผนต้นทุนและกำไร ส่วนวิธีปฏิบัติในการวางแผนในปัจจุบัน ในสถานการณ์ที่ปัจจัยสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม กฎหมายและการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักวางแผน หรือนักบริการภาษีจะรู้เฉพาะหลักกฏหมายภาษีที่เกี่ยวข้องเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ผู้วางแผนจำเป็นต้องรู้หลักของกฏหมายบัญชี กฏหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักการบริหารและนโยบายภาษีนั้นประกอบด้วยและความสำเร็จของการวางแผนภาษีจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยความสามารถในการนำเอาหลักความรู้ต่างๆ ดังกล่าวมาบูรณาการ (Integration) เพื่อใช้ในการปฏิบัตินั่นเอง


"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น