โดยงบกระแสเงินสดนั้น เป็นงบประเภทหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มของงบการเงินที่สำคัญ อันประกอบไปด้วย งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ งบกำไรสะสม และงบกระแสเงินสด
โดยการจำแนกลักษณะกิจกรรมการเคลื่อนไหว เข้า-ออก ของเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด ในงบกระแสเงินสดนั้น จะจำแนกได้เป็น 3 กิจกรรม
1. กิจกรรมดำเนินงาน (Operating Activities)
2. กิจกรรมลงทุน (Investing Activities)
3. กิจกรรมจัดหาเงิน (Financing Activities)
และเมื่อกล่าวถึงภาพรวมสำหรับส่วนประกอบของงบกระแสเงินสดแล้วนั้น จะได้ดังภาพด้านล่าง
ข้อดีของงบกระแสเงินสด
งบกระแสเงินสดนั้น ช่วยให้เจ้าของกิจการหรือนักลงทุนเห็นถึงการเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงของบัญชีเงินสด
ส่งผลให้สามารถนำมาใช้เพื่อการวิเคราะห์สภาพคล่องระยะสั้น
และความสามารถในการอยู่รอดของกิจการในระยะยาวได้
โดยในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น สิ่งที่เราๆท่านๆอาจพบเห็นได้คือ กิจการที่ล้มละลายหรือมีสภาวะสภาพคล่องที่ไม่ดีในทางกลับกันกลับมีการแสดงผลกำไรที่ดีหรือมีจำนวนมากในงบกำไรขาดทุน คำถามคือ สาเหตุนั้นเป็นเพราะอะไร ?
สำหรับกรณีเช่นนี้ เมื่อเรามองลึกลงไปจะพบว่า ผลกำไรดังกล่าวล้วนมาจากการบันทึกรายได้ที่ยังไม่ได้รับชำระ อันเนื่องมาจากการบันทึกบัญชีตามหลักเกณฑ์คงค้าง ตัวอย่างเช่น การบันทึกรายได้โดยการตั้งลูกหนี้เอาไว้ก่อนที่จะมีการรับชำระเป็นเงินสด แต่ในตอนสุดท้ายกิจการไม่สามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ดังกล่าวนั้นได้
ก็จะทำให้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของเงินสดหรือเงินทุนหมุนเวียนของกิจการโดยตรง
ดังนั้น งบกระแสเงินสดที่แสดงให้เห็นถึงการไหลเข้า-ออกของเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด
โดยนำกิจกรรมทั้ง 3 ลักษณะดังที่ได้กล่าวมาไว้ในข้างต้นมาร่วมวิเคราะห์
จะช่วยให้เจ้าของกิจการ นักลงทุน หรือผู้บริหาร
สามารถเห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการเงินสด
สภาพคล่อง และสุขภาพทางการเงินของกิจการได้อย่างแท้จริง