วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ภาษีกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ภาค 2




 เมื่อวิเคราะห์โครงสร้างภาษีไทยในปัจจุบัน จะพบปัญหาภาษีที่มีอยู่ รวมถึงปัญหา ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมื่อเปิดเสรี AEC ประเด็นปัญหาภาษี ที่ควรต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพื่อลดอุปสรรค และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันต่อการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กล่าวคือ

ปัญหาภาษีเงินได้บุคคลธรรมด

1. ภาษีเงินได้ของไทยไม่ใช่แหล่งรายได้หลัก มีสัดส่วนในการจัดเก็บภาษี ประมาณ 25 % และมีฐานภาษีที่แคบ จากข้อมูลสถิติของกรมสรรพากรในปี ภาษี 2553  พบว่าประชากรทั้งประเทศ 64 ล้านคน มีประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานจำนวน 38 ล้านคน แต่ มีผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้ 9 ล้านแบบ และมีเพียง 2.3 ล้านแบบ เท่านั้นที่มีภาษีชำระ ดังนั้น เมื่อ AEC เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่ฐานภาษีจะแคบลง และอัตราภาษีที่จะลดลงเนื่องจากการแข่งขันทำให้จำนวนสัดส่วภาษีเงินได้จะลดลงไปอีก 

2. อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดของไทยลดลงจาก 37% มาอยู่ที่ 35 % ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศ ในกลุ่ม AEC (ดูตารางที่ 2 ) ดังนั้นเมื่อเปิดเสรีอาเซียน  จึงไม่จูงใจ ที่จะดึงดูดนักลงทุน หรือแรงงานมีฝีมือที่มีศักยภาพ เข้ามาอยู่ ทำงาน และเสียภาษีในประเทศไทยในทางกลับกัน จะมีแรงงานฝีมือที่มีรายได้สูงของไทยย้ายไปทำงานในประเทศอื่นที่ภาษีต่ำกว่า 

3.โครงสร้างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  กฎหมายมีการให้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน จำนวนมากที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่สอดคล้อง กับค่าครองชีพพื้นฐาน เช่น ผู้มีเงินได้จากเงินเดือน ค่าจ้าง ไม่ว่าจะมีเงินได้ในปีภาษีจำนวนมากน้อยเท่าใด กฎหมายยอมให้หักค่าใช้จ่ายเหมาได้ 40%  แต่ต้องไม่เกิน 60,000 บาท จึงเป็นการไม่ยุติธรรม และสอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจ ถึงแม้กฎหมายอาจจะมีการให้หักลดหย่อน หรือค่า ยกเว้นต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อชดเชย แต่ก็ยังถือว่าไม่เหมาะสม และมีผลทำให้บิดเบือนกลไกการทำงานของภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีทางตรง ในการทำหน้าที่กระจายรายได้ที่เป็นธรรมด้วย  ส่วนค่าลดหย่อนก็มีจำนวนมาก และรายการเงินได้ที่ยกเว้น ก็มีจำนวนกว่า 100 รายการ  ทำให้ฐานภาษีแคบ และสึกกร่อน ซับซ้อน ทำให้ยุ่งยากมากในทางปฏิบัติในการเสียภาษีเงินได้ ถือว่าเป็นอุปสรรคอย่างมาก  เมื่อเปิด AEC

แนวทางแก้ไข ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนให้เหมาะสม กับมาตรฐานการครองครองชีพ และให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ภาษีเงินได้ ที่เป็นภาษีทางตรงทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ตามหลักภาษีที่ดี ยกเลิก ค่าลดหย่อนเฉพาะกิจต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักความสามารถและหลักผลประโยชน์ ในการเสียภาษี  ที่ทำให้เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ในการกระจายรายได้ พิจารณายกเลิกรายการยกเว้นเงินได้  อาจคงมีไว้ได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น


-โปรดติดตามตอนต่อไป-

"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"


All Rights Reserved KASME Co.,Ltd. 32/9 M.3 T.Nurnpra A.Muang Rayong 21000
บริษัท คัสเม่ จำกัด 32/9 ม.3 ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง 21000
ขอสงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข ก่อนได้รับอนุญาต 
 facebook: facebook.com/kasme.thai  We are HERE

 


วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ภาษีกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC



ภาษี กับ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ดำริ  ดวงนภา (Tax Auditor)

บทความ นี้ มีวัตถุประสงค์ ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงผลกระทบทางภาษีอากร เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน  จากการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  (Asian Economic Community : AEC) ซึ่งประเทศสมาขิก ได้ลงนามในปฏิญญาตกลง ให้เป็นประชาคมเดียวกัน โดยมีผลในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 นี้   ผลจากการเปิดเสรี มีประเด็นที่ผู้ประกอบการไทย ควรต้องเตรียมพร้อม เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และเตรียมตัว ให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ในขณะที่รัฐบาลก็จำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษีให้เหมาะสมและทันสมัย  ซึ่งได้วิเคราะห์ปัญหา และแนวทางแก้ไขไว้ ในส่วนท้ายของบทความ

กล่าวได้ว่า การลดอัตราการจัดเก็บ ภาษีเงินได้นิติบุคคลของรัฐบาลไทยที่ผ่านมา(เป็นการลดชั่วคราว) จากอัตรา 30 % ให้เหลือ 23 % ในปีภาษี 2555 และ เหลือ 20 % ในปีภาษี 2556-2557-2558  นับเป็น มาตรการทางการคลัง มาตรการหนึ่ง ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มแรงจูงใจการลงทุน จากนักลงทุนต่างประเทศ ถือเป็นนโยบายเชิงรุกของรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมในการรับมือ ก่อนการเปิดเสรี AEC ในสิ้นปี 2558  ที่จะถึงนี้

โดยที่ เป้าหมายของ AEC มีความต้องการให้ประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นตลาดเดียว และ เป็นฐานการผลิตเดียว(Single Market & Single Production) ทั้งนี้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลก วิธีการก็คือ ให้แต่ละประเทศ ( 10 ประเทศ) * ในกลุ่มประชาคมอาเซียน มีการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และแรงงาน ให้มีการย้ายปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ได้โดยเสรี  กระแสของการเปิดเสรี หรือ กระแสโลกาภิวัฒน์ ของการเคลื่อนย้ายทุน แรงงาน การค้าเสรี เช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อ โครงสร้างรายได้ภาษี ของแต่ละประเทศ  จากการศึกษาผลกระทบของ AEC ต่อโครงสร้างการจัดเก็บภาษี ของนักวิชาการภาษีอากร พบว่า  เมื่อเปิดเสรี AEC จะทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้ ของแต่ละประเทศจะมีข้อจำกัดมากขึ้น การกำหนดนโยบายภาษีไม่อาจกำหนดได้โดยเพียงการพิจารณาจากข้อมูลพื้นฐานภายในประเทศของตนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ทุกประเทศ จำเป็นต้องพิจารณาทุกประเภทภาษีของตนเอง เปรียบเทียบกับภาษีของประเทศต่าง ๆ ในกลุ่ม AEC เพื่อการกำหนดนโยบายภาษีที่เหมาะสมและสอดคล้อง ต่อการแข่งขัน เช่น  (ตารางที่ : 1)

 
จากตารางที่ 1 จะพบว่า ทิศทางอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มลดลง และเมื่อเปิดเสรี AEC การแข่งขันทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ก็จะเพิ่มมากขึ้น  แต่ละประเทศก็อาจจะมีการปรับลดอัตราภาษีลงได้อีก หรือ ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอื่น ๆ  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน  ดังกรณี ที่ไทยได้ลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงจากเดิม 30%เป็น 23% ในปี 2555 และ 20% ในปี 2556 นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งในการปรับปรุงเพื่อลดอุปสรรคและเพิ่มโอกาส ในการแข่งขัน เพราะเมื่อพิจารณา จากตาราง 1 อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเดิมของไทย เป็นอัตราที่สูง และใช้มาเป็นเวลานาน โดยไม่มีการปรับลดลง เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่มีขนาดเศรษฐกิจและศักยภาพ ใกล้เคียงกับประเทศไทย ดังนั้นผลจากการเปิดเสรี AEC จึงทำให้ประเทศไทยไม่สามารถ คงอัตราภาษีในอัตราเดิมนี้ไว้ได้  เนื่องจากไม่สามารถที่จะแข่งขันได้

ดังได้กล่าวในเบื้องต้นว่า การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีผลกระทบทางตรง ต่อโครงสร้างการจัดเก็บภาษี ของไทย ในหลายๆ ด้านด้วยกัน โครงสร้างการจัดเก็บภาษีในที่นี้ หมายความรวมถึง กฎหมายภาษี ประเภทภาษี อัตราภาษี และนโยบายการบริหารการจัดเก็บภาษี  เช่นเมื่อเปิดเสรี AEC  ภาษีเงินได้มีแนวโน้มจะจัดเก็บได้ยากขึ้น และจำนวนเงินภาษีมีทิศทางลดลง เนื่องจากฐานภาษีเงินได้มีการเคลื่อนย้ายกันง่ายขึ้น  และ มีการแข่งขันเพื่อจูงใจในการลงทุน โดยการลดอัตราภาษีลง  ตัวอย่างเช่น กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ของประเทศ A  สูงกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศ B นักลงทุนในประเทศ A ก็พร้อมที่ย้ายทุนและ สถานประกอบการ จากประเทศ A  ไปอยู่ที่ประเทศ B ได้ทันที  ในทำนองเดียวกัน กรณีที่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศ C เก็บภาษีในอัตราที่สูงมาก เมื่อเทียบกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศ D  ปรากฏการ สมองไหล (Brain Drain)  ของแรงงานที่มีฝีมือ(Skilled Labor) * ก็จะเกิดขึ้น  ได้แก่ แรงงานใน 7 สาขาวิชาชีพภายใต้ข้อตกลงการยอมรับร่วม(Mutual Recognition Agreement- MRA)  คือ จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือจากประเทศ C ไปอยู่และทำงานที่ประเทศ D เหลืออยู่ในประเทศในส่วนของแรงงานไม่มีฝีมือ ที่มีข้อจำกัดในการโยกย้ายเท่านั้น  

(โปรดติดตามต่อฉบับหน้า)

www.kasmethai.com
www.facebook.com/kasmeco
www.facebook.com/kasme.thai

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ข้อแนะนำการหักค่าเสื่อมและอัตราที่ใช้ในการคำนวณ


ข้อแนะนำการหักค่าเสื่อมและอัตราที่ใช้ในการคำนวณ
อ้างอิงจาก: กรมสรรพากร และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527

ค่าเสื่อมราคาคืออะไร ?

ค่าเสื่อมราคา = "ค่าใช้จ่าย"ที่เกิดจากการคำนวณจากมูลค่าของสินทรัพย์ที่ซื้อมาใช้ในกิจการ และนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายประจำงวด

การนำค่าเสื่อมราคามาหักเป็นค่าใช้จ่ายในทางบัญชีภาษีอากร มีวิธีปฏิบัติไม่ตรงกับการหักค่าใช้จ่ายในทางบัญชีมาตรฐานทั่วไป จึงมักทำให้เกิดความผิดพลาดหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการคำนวณค่าใช้จ่าย เพื่อคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีเสมอ

ข้อแนะนำในการหักค่าเสื่อมราคา

ควรแยกประเภททรัพย์สินที่จะนำมาหักค่าเสื่อมราคาได้ และประเภทที่หักค่าเสื่อมราคาไม่ได้ ออกจากกัน เพื่อประโยชน์ในการนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิ

ทรัพย์สินที่สามารถหักค่าเสื่อมราคาได้

ทรัพย์สินถาวรทั่วไปที่โดยสภาพของทรัพย์สินอาจเสื่อมราคาได้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีรูปร่างตัวตนหรือไม่
>>อาคาร อาคารถาวร อาคารชั่วคราว
>>ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นไปได้
>>ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า เช่น เงินกินเปล่า เงินช่วยค่าก่อสร้างค่าแห่งอาคาร หรือโรงเรือนที่ได้โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินเมื่อสร้างเสร็จ ซึ่งตอบแทนสิทธิการเช่าอันมีระยะเวลา
>>ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในกรรมวิธี สูตร กู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร สิทธิประกอบกิจการตามใบอนุญาต ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น
>>ทรัพย์สินอย่างอื่น เช่น รถยนต์ เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องตกแต่งสำนักงาน เป็นต้น

ทรัพย์สินที่ไม่สามารถหักค่าเสื่อมราคาได้

ทรัพย์สินถาวรทั่วไปที่โดยสภาพของทรัพย์ไม่อาจเสื่อมราคาได้ เช่น
>>ที่ดิน
>>เพชร พลอย อัญมณี แร่ธาตุ
>>ทรัพย์สินถาวร “ที่ยังไม่พร้อมจะใช้งาน” เช่น อาคารระหว่างก่อสร้าง เครื่องจักรระหว่างติดตั้ง

อัตราหักต่างกัน ควรแยกออกจากกัน

ควรแยกประเภททรัพย์สินที่สามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ในอัตราที่แตกต่างกันออกจากกัน
>>อาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆในอาคาร เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เครื่องปรับอากาศ = กฏหมายกำหนดให้หักค่าเสื่อมราคาได้ร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน
>>ตัวอาคาร = หักค่าเสื่อมราคาในอัตราต่ำเพียงไม่เกินร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นทุน

เลือกวิธีในการหักค่าเสื่อมราคา

เลือกใช้วิธีการทางบัญชี เพื่อการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ให้ได้สอดคล้อง กับสภาพการใช้ทรัพย์สินและอำนวยประโยชน์แก่กิจการได้สูงสุด
บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล อาจเลือกใช้วิธีการทางบัญชีในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ตามวิธีใดก็ได้ แต่เมื่อเลือกใช้วิธีการและอัตราที่จะหักวิธีใดแล้ว ต้องใช้วิธีการและอัตรานั้นตลอดไป

ะเปลี่ยนแปลงได้ ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร หรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย และ ในกรณีที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงได้ ก็ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัตินั้น
สำหรับทรัพย์สินประเภทและชนิดเดียวกันที่กิจการได้มาใหม่ จะเลือกวิธีการและอัตราให้แตกต่างไปจากที่เคยใช้อยู่เดิม ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากรแต่อย่างใด (แต่ควรเปิดเผยไว้ในงบการเงิน)

อัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน

การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน คำนวณหักตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

ในกรณีที่รอบระยะเวลาใดไม่เต็ม 12 เดือน ให้เฉลี่ยตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้


กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาโดยใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งมีอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาไม่เท่ากันในแต่ละปีระหว่างอายุการใช้ทรัพย์สิน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีนั้นในบางปีเกินอัตราที่กำหนดข้างต้นก็ได้ แต่จำนวนปีอายุการใช้ของทรัพย์สินเพื่อการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้องไม่น้อยกว่า 100 หารด้วยจำนวนร้อยละที่กำหนดข้างต้น 
(ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.3/2527)

“การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินอย่างอื่นตามความในวรรคหนึ่ง (5) ซึ่งมิใช่รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนหรือรถยนต์นั่ง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งมีอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในปีแรกเป็นสองเท่าของอัตราที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง และสำหรับปีถัดไปให้หักตามอัตราสองเท่าดังกล่าวโดยคำนวณจากมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีก็ได้ แต่จำนวนปีอายุการใช้ของทรัพย์สินเพื่อการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้องไม่น้อยกว่า 100 หารด้วยจำนวนร้อยละที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายของอายุการใช้ของทรัพย์สินดังกล่าว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาโดยรวมจำนวนมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมดด้วยก็ได้” 
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่359) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ 23 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไป โดยมิให้ใช้บังคับสำหรับทรัพย์สินที่ได้มาก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ)

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับ พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527
ได้ทาง http://www.rd.go.th/publish/2369.0.html

สถาบันคัสเม่ "หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"
www.kasmethai.com สถาบันฝึกอบรมแห่งแรกในจังหวัดระยอง
FB: facebook/kasmeco

เรียนรู้กฏหมายใหม่ภาษีมรดกกับสถาบันคัสเม่

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เทคนิคการประมาณการรายได้ค่าใช้จ่าย ที่ช่วยให้ปลอดภัยจากเบี้ยปรับ (ภ.ง.ด.51)



ประมาณการรายได้ค่าใช้จ่ายอย่างไร ให้ปลอดภัยจากเบี้ยปรับ ?

ถ้าจะแปลไทยเป็นไทย โดยพูดแบบภาษาบ้านๆก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะยื่นภาษีกลางปี (ภ.ง.ด.51) โดยไม่ให้โดนเบี้ยปรับบบ ซึ่งจากการที่เราโชว์กำไรให้สรรพากรน้อยเกินไป นั่นคือ ขาดไป 25% จากความเป็นจริง ซึ่งกำไรที่แท้จริงจะรู้ก็ต่อเมื่อในตอนสิ้นปีเท่านั้น

แน่นอนว่าเราไม่ใช่นอสตราดามุส หรือ เจน ญาณทิพย์ (ซึ่งถ้าเป็นทั้งสองท่าน แน่นอนว่าก็ไม่ต้องมานั่งปวดหัวคาดเดากันไป เพื่อให้ถูกใจ ... สรรพากร) สถาบันคัสเม่ จึงขอยกเทคนิคเล็กน้อย สำหรับท่านที่กำลังกลุ้มใจ ว่าแล้วพอจะมีวิธีไหนบ้างมั้ยล่ะที่พอจะช่วยไม่ให้เราเสียเงินจากค่าปรับในเวลาต่อมาบ้าง

สำหรับท่านที่ต้องเสียภาษีกลางปี โดยอยากจะทดสอบความสามารถตัวเอง หรือโดยส่วนตัวแล้วชอบความตื่นเต้นจากการลุ้นระทึกกับทางสรรพากร นี่คือวิธีง่ายๆ ที่เราขอแนะนำให้ท่านใช้เพื่อเป็นข้อคำนึงในการประมาณการ เพื่อเตรียมยื่นภาษีกลางปี โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.51 ในการยื่น

>>> ประมาณการรายได้ให้มาก & ประมาณการค่าใช้จ่ายให้น้อย เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำประมาณการการเสียภาษีกลางปี เพื่อลดความเสี่ยงในการโดนค่าปรับ <<<

วิธีข้างต้น เราไม่ขอแนะนำ (แล้วจะพิมพ์ทำไม)

วิธีที่เราแนะนำคือ

1. กรณีที่ถ้าเราได้รับ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย มาหลายฉบับจากลูกค้าในช่วง 6 เดือนแรก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เราควรประมาณการไว้ก่อนว่า รายได้ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มว่าจะมีมากในช่วง 6 เดือนหลังเช่นกัน

2. การประมาณการรายได้ให้สูง สูงงงงง จะส่งผลให้กำไรสุทธิมีจำนวนที่สูงขึ้นตาม และกำไรที่เกิดจากรายได้ที่ประมาณเอาไว้สูง สูงงง ส่งผลให้ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของการโชว์กำไรขาดไปจากความเป็นจริง 25% ซึ่งเป็นกำไรที่เกิดขึ้นในตอนสิ้นปี ช่วยป้องกันในเรื่องของเบี้ยปรับ และช่วยไม่ให้เราเสียฟอร์ม

3. และกำไรที่สูง จะส่งผลให้ภาษีที่ต้องชำระจากการคำนวณจากกำไรดังกล่าว มีแนวโน้มว่าจะเกินกว่าครึ่งหนึ่งจากภาษีที่ได้ชำระเอาไว้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเทคนิคที่จะช่วยลดความเสี่ยงของค่าปรับกรณีที่เราโชว์กำไรน้อยไปจากความเป็นจริงในตอนสิ้นปี ได้เช่นกัน

4. ค่าใช้จ่าย ควรประมาณการตามหลักความเป็นจริง โดยคำนึงถึงประเภทธุรกิจร่วมด้วย
    เช่น กรณีเป็นธุรกิจขายตรง ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายจากการเดินทางที่เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกจะมีไม่มากนัก แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวในช่วง 6 เดือนหลังจะน้อยเช่นกัน เนื่องจากโดยตามธรรมชาติของประเภทธุรกิจนี้แล้ว การเดินทางไปพบลูกค้า การเดินทางเพื่อขายสินค้า เป็นสิ่งที่จำเป็นกับธุรกิจประเภทนี้ การที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเกิดขึ้นน้อยในช่วงครึ่งปีแรก เราสามารถมองได้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังการเดินทางมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว นักขายจำเป็นที่จะต้องสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นจากการพบปะลูกค้าโดยเดินทางเพื่อสร้างยอดขายเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลังนั่นเอง

5. ค่าใช้จ่าย ควรประมาณการตามหลักความเป็นจริง เพื่อลดงานในการปรับปรุงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในเวลาต่อมา นั่นหมายถึง ยิ่งเราประมาณการใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดรายการปรับปรุงค่าใช้จ่ายในเวลาต่อมาน้อยหรือไม่มีเลย (เพี้ยง...)

6. ควรเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง รายได้ ค่าใช้จ่าย ของปีปัจจุบันกับปีที่แล้ว ว่ามีจำนวนลดเพิ่มมากน้อยเพียงใด มีความต่างกันมากเกินไปหรือไม่ อย่าให้โอเวอร์จนเกินไป

นี่คือเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ จากสถาบันคัสเม่ค่ะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โดยส่วนใหญ่กิจการมักจะมอบงานนี้ให้กับสำนักงานบัญชี เพื่อลดความเสี่ยงและความตื่นเต้นจากการพบปะกับสรรพากรนั่นเอง

"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"



วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล (Income Tax) กับแบบ ภ.ง.ด.51


เชื่อว่านักบัญชีหลายท่านคงคุ้นเคยกับแบบ ภ.ง.ด.51 ซึ่งเป็นแบบเพื่อยื่นภาษีกลางปีเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเวลานี้ที่ระยะเวลาสิ้นสุดของการยื่นแบบเริ่มเขยิบใกล้เข้ามาเรื่อยๆ นั่นคือสิ้นเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการยื่นแบบกระดาษ อย่างไรก็ตาม วันสุดท้ายในการยื่นแบบผ่านทางอินเตอร์เน็ต คือวันอังคารที่ 8 กันยายน 2558

ซึ่งโดยทั่วไป วัตถุประสงค์ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 นั้น ก็คือการที่ทางภาครัฐต้องการช่วยแบ่งเบาภาระในการชำระภาษีให้กับนิติบุคคล ให้มีการเสียภาษีอากรที่เป็นธรรม ตามมาตรา 67 ทวิ โดยวิธีให้นิติบุคคลทยอยชำระภาษีก่อนในรอบครึ่งปีแรก (โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.51 ประกอบในการยื่นแบบชำระภาษีกลางปี) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชำระภาษีเป็นจำนวนมากในตอนสิ้นปี (ในตอนสิ้นปี จะมีการนำแบบ ภ.ง.ด.50 มาใช้) และเงินภาษีที่ทางภาครัฐได้จัดเก็บยังสามารถนำมาใช้ในการบริหารพัฒนาประเทศในเวลาต่อไป

Note: มาตรา 67 ทวิ ได้กำหนดในผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

อย่างไรก็ตาม อาจยังมีหลายท่านที่ยังไม่คุ้นเคยนักกับแบบ ภ.ง.ด.51 หรือแบบในการยื่นภาษีกลางปี ทางเราจึงขออนุญาติเผยแพร่ความรู้ทั่วไป เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.51 ตามรายละเอียดดังนี้


การประมาณการเพื่อยื่นภาษีกลางปี หรือ ภ.ง.ด.51 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีกลางปี ต้องเข้าเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1.ต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ
2.ต้องมีรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือสุดท้าย 12 เดือนเต็ม
3.ภาษีที่ชำระไปแล้วถือเป็นเครดิตภาษี
4.กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ คำนวณได้ 2 วิธีคือ

4.1  โดยวิธีการเสียจากประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ที่ได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำ และจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป

4.2 โดยวิธีการเสียจากกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการในช่วง 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

สำหรับในข้อ 4.1 ซึ่งเป็นข้อที่เราจะกล่าวถึงนั้น เราจะมีหลักเกณฑ์ในการประมาณการ การคาดคะเน ที่ควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้

1.ประเภทของธุรกิจ
2.ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป
3.ข้อมูลและสถิติในการประมาณการ
4.นโยบายการบริหารของกิจการ
5.ความสามารถของผู้ทำประมาณการ
6.นโยบายบัญชี

ขั้นตอนการเตรียมข้อมูลในการจัดทำแบบ ภ.ง.ด.51

1.บันทึกบัญชีรายได้-ค่าใช้จ่าย (ระยะเวลาตั้งแต่เดือน 1-6 ให้ครบ)
2.บันทึกสินค้าคงเหลือต้นงวด-ปลายงวด (เดือน 1-6)
3.บันทึกค่าเสื่อมราคา
4.ปริ้นท์งบกำไรขาดทุนแบบประมาณการ รอบ 6 เดือน
5.นำข้อ 4 มากรอกในแบบฟอร์มประมาณการ Excel ในช่อง 6 เดือนแรก แล้วประมาณการ 6 เดือนหลัง
6.นำข้อมูลในข้อ 5 มากรอกแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี (ภ.ง.ด.51)

ผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51

1.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

>> บริษัทจำกัด
>> บริษัทมหาชน จำกัด
>> ห้างหุ้นส่วน จำกัด
>> ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

กรณีบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีสาขาไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกประเทศไทย จะต้องนำกำไรสุทธิของสาขามารวมกำไรสุทธิของสำนักงานใหญ่ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย

2.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ได้แก่

>> บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย
>> บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบุคคลผู้จ้างเป็นลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรดังกล่าว

3.กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางการค้า หรือ หากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

4.กิจการร่วมค้า

ผู้ที่ไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51

1.บริษัทที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเป็นปีแรก รอบบัญชีไม่เต็ม 12 เดือน
2.บริษัทที่ปิดกิจการ ซึ่งรอบบัญชีปีสุดท้ายไม่เต็ม 12 เดือน
3.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้เปลี่ยนแปลงวันสุดท้ายของรอบบัญชี โดยรอบเวลาดังกล่าวมีกำหนดไม่เกิน 6 เดือน


Note:

ภ.ง.ด.51 ที่ยื่นภาษีแล้ว ต้องเตรียมสำเนาเพื่อใช้ในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระทั้งปีในแบบ ภ.ง.ด.50 ด้วยเช่นกัน (สำหรับกิจการที่มีรอบบัญชีปกติในปฏิทิน คือ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน หรือ สิ้นเดือน พ.ค. ของปีถัดไป)


"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"