การเริ่มต้นธุรกิจเป็นของตัวเอง คือสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ และสามารถเริ่มกิจการได้ในรูปของทั้งบุคคลธรรมดา หรือรูปแบบนิติบุคคล
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการที่ได้จดเข้าระบบ VAT หรือ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยนั้น สิ่งสำคัญมากอีกสิ่งหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจ เมื่อมีการขายสินค้าหรือการให้บริการ นั่นก็คือหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านการขายสินค้า/การให้บริการ
ในวันนี้ สถาบันคัสเม่ขอเผยแพร่รายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บไซต์กรมสรรพากร เพื่อให้ผู้ประกอบการและนักบัญชีทุกท่านสามารถติดตามอ่านรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ
รวมมิตรหลักฐานการรับเงินที่ผู้ประกอบการจด VAT ต้องรู้!
ใบเสร็จรับเงิน = ใบรับ ที่แสดงการรับชำระเงิน
หากเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะต้องมี "ใบกำกับภาษี" มาเกี่ยวข้องนอกเหนือจากใบเสร็จรับเงิน ลักษณะของใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี จะต้องมีสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้จึงจะถือว่าถูกต้อง สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะใช้ใบกำกับภาษีกับใบเสร็จรับเงินในฉบับเดียวกันก็ได้
ทั้งนี้ นิยามคำว่า “ใบรับ” ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร หมายความว่า
(ก) บันทึก หรือหนังสือใด ๆ ที่เป็นหลักฐานแสดงว่าได้รับ ได้รับฝาก หรือได้รับชำระเงินหรือตั๋วเงิน หรือ
(ข) บันทึก หรือหนังสือใด ๆ ที่เป็นหลักฐานแสดงว่าหนี้หรือสิทธิเรียกร้องได้ชำระหรือปลดให้แล้ว
บันทึก หรือหนังสือที่กล่าวนั้นจะมีลายมือชื่อของบุคคลใด ๆ หรือไม่ ไม่สำคัญ โดยสาระสำคัญและกฎหมายของใบกำกับภาษี และ ใบรับ สรุปได้ดังนี้
รายการ: ใบรับ ตัวอย่างใบรับ
กฏหมายอ้างอิงตามประมวลรัษฎากร: มาตรา 105 ทวิ
สาระสำคัญ:
1. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ
2. ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ
3. เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
4. วัน เดือน ปี ที่ออกใบรับ
5. จำนวนเงินที่รับ
6. ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้า ในกรณีการขายหรือให้เช่าซื้อสินค้าเฉพาะชนิดที่มีราคาตั้งแต่ หนึ่งร้อยบาทขึ้นไป
รายการ: ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตัวอย่างใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
กฏหมายอ้างอิงตามประมวลรัษฎากร: มาตรา 86/4
สาระสำคัญ:
1. คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ จดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86 วรรคสี่หรือมาตรา 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
รายการ: ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ตัวอย่างใบกำกับภาษีอย่างย่อ
กฏหมายอ้างอิงตามประมวลรัษฎากร: มาตรา 86/6
สาระสำคัญ:
1. คำว่า "ใบกำกับภาษีอย่างย่อ" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
2. ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจด ทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
3. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
4. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
5. ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
6. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
7. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
รายการ: ใบเพิ่มหนี้ ตัวอย่างใบเพิ่มหนี้
กฏหมายอ้างอิงตามประมวลรัษฎากร: มาตรา 86/9
สาระสำคัญ:
1. คำว่า "ใบเพิ่มหนี้" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบเพิ่มหนี้ และในกรณีตัวแทนเป็นผู้ออกใบเพิ่มหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ของตัวแทนนั้นด้วย
3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
4. วัน เดือน ปี ที่ออกใบเพิ่มหนี้
5. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี) มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสองและจำนวนภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มสำหรับส่วนต่างนั้น
6. คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้
7. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
รายการ: ใบลดหนี้ ตัวอย่างใบลดหนี้
กฏหมายอ้างอิงตามประมวลรัษฎากร: มาตรา 86/10
สาระสำคัญ:
1. คำว่า "ใบลดหนี้" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบลดหนี้และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบลดหนี้ ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
4. วัน เดือน ปี ที่ออกใบลดหนี้
5. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี) มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสองและจำนวนภาษีที่ใช้คืนสำหรับส่วนต่างนั้น
6. คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบลดหนี้
7. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
**หมายเหตุ**
ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบเสร็จรับเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ส่วนราชการเป็นผู้ออกถือเป็นใบกำกับภาษี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น