6 ประเด็นนำเสนอเพื่อการแก้ไขกฎหมายภาษีสรรพากร
สำหรับโครงสร้างภาษีใหม่ปี 2562
อ้างอิงเนื้อหาข่าวจาก: Sanook.com
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร ซึ่งจะรีบดำเนินการก่อนการเลือกตั้ง หากทำไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งใหม่อาจจะไม่ดำเนินการต่อ เนื่องจากการขยายฐานภาษีเป็นเรื่องที่รัฐบาลเลือกตั้งหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการ เพราะทำให้เสียความนิยมได้ โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้นำเสนอผลการศึกษาการแก้ไขกฎหมายภาษีสรรพากรใน 6 ประเด็น ได้แก่
1.ประเด็นธรรมาภิบาลการจัดเก็บภาษีและบริหารภาษีอากร โดยเสนอให้กำหนดนโยบายเชิงรุกเพื่อขยายฐานการจัดเก็บภาษี โดยให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมีเงินมากกว่าหรือน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา และให้ประชาชนเปิดเผยจำนวนเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษีในแบบแสดงรายการ แม้ในปีภาษีดังกล่าวจะไม่มีภาษีที่ต้องชำระก็ตาม
2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เสนอปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เหลือเพียง 3 ประเภท ได้แก่ เงินได้จากน้ำพักน้ำแรง, เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน และเงินได้จากธุรกิจและอื่นๆ รวมทั้งเสนอให้มีการหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้น ตามประเภทของประเภทเงินได้ จากปัจจุบันที่หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท อีกทั้งยังให้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงเป็น 25% จากปัจจุบัน 35% ใกล้เคียงกับภาษีเงินได้ของนิติบุคคล และขยายช่วงเงินได้สำหรับแต่ละอัตรา เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการประกอบธุรกิจ แต่ยังไม่พร้อมจะเป็นนิติบุคคล
3.ภาษีเงินได้นิติบุคคล เสนอให้ปรับลดอัตราภาษีและภาระภาษีรวมอยู่ที่ไม่เกิน 25% จากปัจจุบันภาษีนิติบุคคลของไทยเสียอยู่ที่ 20% และต้องเสียภาษีเงินปันผลอีกประมาณ 10% ทำให้มีภาระภาษีรวมประมาณ 28% รวมถึงให้กลุ่มบริษัทเดียวกันมีสิทธิคำนวณกำไรเสียภาษีรวมแบบกลุ่ม ป้องกันการถ่ายโอนราคาสินค้าบริหารเพื่อเสียภาษีให้น้อยลง อีกทั้งเสนอให้กำหนดอัตราภาษี ณ ที่จ่าย เพียงอัตราเดียวสำหรับเงินได้ทุกประเภท และปรับวงเงินขั้นต่ำที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระของผู้จ่ายเงินได้ในการตีความ
4.ภาษีมูลค่าเพิ่ม จากปัจจุบัน ที่กำหนดบังคับเฉพาะผู้ประกอบการที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเจตนาแสดงรายได้ไม่ถึงเกณฑ์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการที่เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้อง คณะอนุกรรมการฯ จึงเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขเงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มแบบปกติ (ภาษีขายหักภาษีซื้อ) จากเดิมรายได้ 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ให้สูงขึ้น เช่น 10 ล้านบาทต่อปี
5.ภาษีธุรกิจเฉพาะ เสนอให้มีการยกเลิกจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะอัตรา 0.1% จากรายรับจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
6.ภาษีอากรแสตมป์ เสนอให้ยกเลิกการเก็บภาษีอากรแสตมป์ทั้งหมด เนื่องจากซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีประเภทอื่น และมีจำนวนน้อยและมีค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบสูงกว่าภาษีอากรแสตมป์เก็บได้
รับฟังเสียงคลิปข่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น