วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เรื่องน่ารู้ของภาษีมูลค่าเพิ่ม: กรณีที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ประสงค์จะขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว ต้องทำอย่างไร?

เรื่องน่ารู้ของภาษีมูลค่าเพิ่ม: 
กรณีที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ประสงค์จะขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว ต้องทำอย่างไร?

วันนี้กลับมาอีกครั้งกับหัวข้อน่าขบคิดทางด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม กับประเด็นที่ว่า "ถ้าในกรณีเราเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วอยากจด VAT เป็นการชั่วคราว จะทำได้หรือไม่ ? และต้องทำอย่างไร ?" วันนี้สถาบันคัสเม่ มีคำตอบให้ท่านแล้วค่ะ



กรณีได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ประสงค์ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว

1. กรณีผู้ประกอบการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายสามารถขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ (เฉพาะกิจการตามที่กฎหมายกำหนด) โดยยื่นคำขอแจ้งขอใช้สิทธิเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01.1) และยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) พร้อมเอกสารประกอบ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่น ภ.พ.01.1

2.กรณีผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย) และเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราวมีกำหนดเวลาในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรเกิน 1 ปีแต่ไม่เกิน 3 ปี(ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 43)) มีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวโดยยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01.2) พร้อมเอกสารประกอบ ดังนี้

 (1) ภาพถ่ายหนังสือตั้งตัวแทนเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งมีการรับรองโดยสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือบุคคลอื่นที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมสรรพากร (กรณีผู้ประกอบกิจการที่อยู่นอกราชอาณาจักร มีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักรเป็นผู้ยื่นคำขอฯ แทน)

 (2) กรณีมอบอำนาจ ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ พร้อมหนังสือมอบอำนาจ

 (3) ภาพถ่ายเอกสารการดำเนินกิจการร่วมค้า (ถ้ามี)

 (4) ภาพถ่ายสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ (กรณีเช่า) หรือภาพถ่ายหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ (กรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้น โดยไม่มีค่าตอบแทน)

 (5) แผนที่ซึ่งแสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขป พร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการนั้น

 (6) ภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (กรณีเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในประเทศไทย)


 (7) ภาพถ่ายสัญญา หรือโครงการที่แสดงถึงคู่สัญญา มูลค่าของสัญญา ระยะเวลาของสัญญา หรือโครงการที่เริ่มต้นและสิ้นสุด

จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่ไหน?

การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.01 ณ สถานที่ดังต่อไปนี้

1 กรณีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือ จะยื่นผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขต) ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
2 กรณีสถานประกอบการตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (อำเภอ) ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
3 กรณีมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขต/อำเภอ) ที่ซึ่งสถานประกอบการที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ หากไม่มีสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ ให้ผู้ประกอบการเลือกสถานประกอบการแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นสำนักงานใหญ่
4 กรณีสถานประกอบการตั้งอยู่ในท้องที่ตั้งใหม่ ที่ยังไม่มีสำนักงานสรรพากรตั้งอยู่ ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขต/อำเภอ) ที่เคยควบคุมท้องที่นั้น
5 กรณีเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ให้ยื่นขอจดทะเบียนได้ ณ สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ หรือจะยื่นผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขต/อำเภอ) ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ก็ได้

ตอนต่อไป: หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร ? 

KASME INSTITUTE
"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"
FB: KASMECO  @LINE: KASMETHAI

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น