วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เทคนิคการประมาณการรายได้ค่าใช้จ่าย ที่ช่วยให้ปลอดภัยจากเบี้ยปรับ (ภ.ง.ด.51)



ประมาณการรายได้ค่าใช้จ่ายอย่างไร ให้ปลอดภัยจากเบี้ยปรับ ?

ถ้าจะแปลไทยเป็นไทย โดยพูดแบบภาษาบ้านๆก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะยื่นภาษีกลางปี (ภ.ง.ด.51) โดยไม่ให้โดนเบี้ยปรับบบ ซึ่งจากการที่เราโชว์กำไรให้สรรพากรน้อยเกินไป นั่นคือ ขาดไป 25% จากความเป็นจริง ซึ่งกำไรที่แท้จริงจะรู้ก็ต่อเมื่อในตอนสิ้นปีเท่านั้น

แน่นอนว่าเราไม่ใช่นอสตราดามุส หรือ เจน ญาณทิพย์ (ซึ่งถ้าเป็นทั้งสองท่าน แน่นอนว่าก็ไม่ต้องมานั่งปวดหัวคาดเดากันไป เพื่อให้ถูกใจ ... สรรพากร) สถาบันคัสเม่ จึงขอยกเทคนิคเล็กน้อย สำหรับท่านที่กำลังกลุ้มใจ ว่าแล้วพอจะมีวิธีไหนบ้างมั้ยล่ะที่พอจะช่วยไม่ให้เราเสียเงินจากค่าปรับในเวลาต่อมาบ้าง

สำหรับท่านที่ต้องเสียภาษีกลางปี โดยอยากจะทดสอบความสามารถตัวเอง หรือโดยส่วนตัวแล้วชอบความตื่นเต้นจากการลุ้นระทึกกับทางสรรพากร นี่คือวิธีง่ายๆ ที่เราขอแนะนำให้ท่านใช้เพื่อเป็นข้อคำนึงในการประมาณการ เพื่อเตรียมยื่นภาษีกลางปี โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.51 ในการยื่น

>>> ประมาณการรายได้ให้มาก & ประมาณการค่าใช้จ่ายให้น้อย เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำประมาณการการเสียภาษีกลางปี เพื่อลดความเสี่ยงในการโดนค่าปรับ <<<

วิธีข้างต้น เราไม่ขอแนะนำ (แล้วจะพิมพ์ทำไม)

วิธีที่เราแนะนำคือ

1. กรณีที่ถ้าเราได้รับ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย มาหลายฉบับจากลูกค้าในช่วง 6 เดือนแรก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เราควรประมาณการไว้ก่อนว่า รายได้ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มว่าจะมีมากในช่วง 6 เดือนหลังเช่นกัน

2. การประมาณการรายได้ให้สูง สูงงงงง จะส่งผลให้กำไรสุทธิมีจำนวนที่สูงขึ้นตาม และกำไรที่เกิดจากรายได้ที่ประมาณเอาไว้สูง สูงงง ส่งผลให้ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของการโชว์กำไรขาดไปจากความเป็นจริง 25% ซึ่งเป็นกำไรที่เกิดขึ้นในตอนสิ้นปี ช่วยป้องกันในเรื่องของเบี้ยปรับ และช่วยไม่ให้เราเสียฟอร์ม

3. และกำไรที่สูง จะส่งผลให้ภาษีที่ต้องชำระจากการคำนวณจากกำไรดังกล่าว มีแนวโน้มว่าจะเกินกว่าครึ่งหนึ่งจากภาษีที่ได้ชำระเอาไว้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเทคนิคที่จะช่วยลดความเสี่ยงของค่าปรับกรณีที่เราโชว์กำไรน้อยไปจากความเป็นจริงในตอนสิ้นปี ได้เช่นกัน

4. ค่าใช้จ่าย ควรประมาณการตามหลักความเป็นจริง โดยคำนึงถึงประเภทธุรกิจร่วมด้วย
    เช่น กรณีเป็นธุรกิจขายตรง ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายจากการเดินทางที่เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกจะมีไม่มากนัก แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวในช่วง 6 เดือนหลังจะน้อยเช่นกัน เนื่องจากโดยตามธรรมชาติของประเภทธุรกิจนี้แล้ว การเดินทางไปพบลูกค้า การเดินทางเพื่อขายสินค้า เป็นสิ่งที่จำเป็นกับธุรกิจประเภทนี้ การที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเกิดขึ้นน้อยในช่วงครึ่งปีแรก เราสามารถมองได้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังการเดินทางมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว นักขายจำเป็นที่จะต้องสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นจากการพบปะลูกค้าโดยเดินทางเพื่อสร้างยอดขายเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลังนั่นเอง

5. ค่าใช้จ่าย ควรประมาณการตามหลักความเป็นจริง เพื่อลดงานในการปรับปรุงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในเวลาต่อมา นั่นหมายถึง ยิ่งเราประมาณการใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดรายการปรับปรุงค่าใช้จ่ายในเวลาต่อมาน้อยหรือไม่มีเลย (เพี้ยง...)

6. ควรเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง รายได้ ค่าใช้จ่าย ของปีปัจจุบันกับปีที่แล้ว ว่ามีจำนวนลดเพิ่มมากน้อยเพียงใด มีความต่างกันมากเกินไปหรือไม่ อย่าให้โอเวอร์จนเกินไป

นี่คือเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ จากสถาบันคัสเม่ค่ะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โดยส่วนใหญ่กิจการมักจะมอบงานนี้ให้กับสำนักงานบัญชี เพื่อลดความเสี่ยงและความตื่นเต้นจากการพบปะกับสรรพากรนั่นเอง

"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"



วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล (Income Tax) กับแบบ ภ.ง.ด.51


เชื่อว่านักบัญชีหลายท่านคงคุ้นเคยกับแบบ ภ.ง.ด.51 ซึ่งเป็นแบบเพื่อยื่นภาษีกลางปีเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเวลานี้ที่ระยะเวลาสิ้นสุดของการยื่นแบบเริ่มเขยิบใกล้เข้ามาเรื่อยๆ นั่นคือสิ้นเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการยื่นแบบกระดาษ อย่างไรก็ตาม วันสุดท้ายในการยื่นแบบผ่านทางอินเตอร์เน็ต คือวันอังคารที่ 8 กันยายน 2558

ซึ่งโดยทั่วไป วัตถุประสงค์ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 นั้น ก็คือการที่ทางภาครัฐต้องการช่วยแบ่งเบาภาระในการชำระภาษีให้กับนิติบุคคล ให้มีการเสียภาษีอากรที่เป็นธรรม ตามมาตรา 67 ทวิ โดยวิธีให้นิติบุคคลทยอยชำระภาษีก่อนในรอบครึ่งปีแรก (โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.51 ประกอบในการยื่นแบบชำระภาษีกลางปี) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชำระภาษีเป็นจำนวนมากในตอนสิ้นปี (ในตอนสิ้นปี จะมีการนำแบบ ภ.ง.ด.50 มาใช้) และเงินภาษีที่ทางภาครัฐได้จัดเก็บยังสามารถนำมาใช้ในการบริหารพัฒนาประเทศในเวลาต่อไป

Note: มาตรา 67 ทวิ ได้กำหนดในผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

อย่างไรก็ตาม อาจยังมีหลายท่านที่ยังไม่คุ้นเคยนักกับแบบ ภ.ง.ด.51 หรือแบบในการยื่นภาษีกลางปี ทางเราจึงขออนุญาติเผยแพร่ความรู้ทั่วไป เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.51 ตามรายละเอียดดังนี้


การประมาณการเพื่อยื่นภาษีกลางปี หรือ ภ.ง.ด.51 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีกลางปี ต้องเข้าเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1.ต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ
2.ต้องมีรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือสุดท้าย 12 เดือนเต็ม
3.ภาษีที่ชำระไปแล้วถือเป็นเครดิตภาษี
4.กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ คำนวณได้ 2 วิธีคือ

4.1  โดยวิธีการเสียจากประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ที่ได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำ และจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป

4.2 โดยวิธีการเสียจากกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการในช่วง 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

สำหรับในข้อ 4.1 ซึ่งเป็นข้อที่เราจะกล่าวถึงนั้น เราจะมีหลักเกณฑ์ในการประมาณการ การคาดคะเน ที่ควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้

1.ประเภทของธุรกิจ
2.ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป
3.ข้อมูลและสถิติในการประมาณการ
4.นโยบายการบริหารของกิจการ
5.ความสามารถของผู้ทำประมาณการ
6.นโยบายบัญชี

ขั้นตอนการเตรียมข้อมูลในการจัดทำแบบ ภ.ง.ด.51

1.บันทึกบัญชีรายได้-ค่าใช้จ่าย (ระยะเวลาตั้งแต่เดือน 1-6 ให้ครบ)
2.บันทึกสินค้าคงเหลือต้นงวด-ปลายงวด (เดือน 1-6)
3.บันทึกค่าเสื่อมราคา
4.ปริ้นท์งบกำไรขาดทุนแบบประมาณการ รอบ 6 เดือน
5.นำข้อ 4 มากรอกในแบบฟอร์มประมาณการ Excel ในช่อง 6 เดือนแรก แล้วประมาณการ 6 เดือนหลัง
6.นำข้อมูลในข้อ 5 มากรอกแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี (ภ.ง.ด.51)

ผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51

1.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

>> บริษัทจำกัด
>> บริษัทมหาชน จำกัด
>> ห้างหุ้นส่วน จำกัด
>> ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

กรณีบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีสาขาไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกประเทศไทย จะต้องนำกำไรสุทธิของสาขามารวมกำไรสุทธิของสำนักงานใหญ่ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย

2.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ได้แก่

>> บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย
>> บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบุคคลผู้จ้างเป็นลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรดังกล่าว

3.กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางการค้า หรือ หากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

4.กิจการร่วมค้า

ผู้ที่ไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51

1.บริษัทที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเป็นปีแรก รอบบัญชีไม่เต็ม 12 เดือน
2.บริษัทที่ปิดกิจการ ซึ่งรอบบัญชีปีสุดท้ายไม่เต็ม 12 เดือน
3.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้เปลี่ยนแปลงวันสุดท้ายของรอบบัญชี โดยรอบเวลาดังกล่าวมีกำหนดไม่เกิน 6 เดือน


Note:

ภ.ง.ด.51 ที่ยื่นภาษีแล้ว ต้องเตรียมสำเนาเพื่อใช้ในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระทั้งปีในแบบ ภ.ง.ด.50 ด้วยเช่นกัน (สำหรับกิจการที่มีรอบบัญชีปกติในปฏิทิน คือ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน หรือ สิ้นเดือน พ.ค. ของปีถัดไป)


"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"


วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ภาษีการให้ ภาษีการรับมรดก และ ภาษีกองมรดก


Update ภาษีใหม่ ที่กรมสรรพากรจัดเก็บ by Kasme

ตามที่มีกฎหมายออกใหม่ ให้มีการจัดเก็บภาษีจากการรับมรดก  และ จากการรับให้ โดยให้อยู่ในอำนาจของกรมสรรพากรเป็นผู้มีหน้าที่จัดเก็บนั้น  หลายๆท่าน ที่ติดตามข่าว  อาจยังสงสัยว่าสรุปแล้วเป็นภาษีอะไรกันแน่  เพราะที่ผ่านมา มีการพูดถึง ภาษีมรดก ภาษีโรงเรือน และที่ดิน หรือแม้กระทั่งภาษีการให้  แต่พอกฎหมายออกมา ชื่อกฎหมาย ดู เปลี่ยนไป เรื่องนี้ คัสเม่ ขอแสดงความกระจ่าง ให้กับเพื่อนสมาชิกและผู้สนใจ ดังนี้ 

ก่อนอื่นควรทราบว่าภาษีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้  มี 3 ประเภท ซึ่งเป็นภาษีใหม่  2 ประเภท และ   ภาษีเก่ามี 1 ประเภท คือ

1. ภาษีการให้ (Gift Tax)  = ภาษีใหม่   บังคับจัดเก็บโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 40  พ.ศ. 2558
2. ภาษีการรับมรดก ( Inheritance Tax) = ภาษีใหม่ จัดเก็บโดยออกกฎหมายใหม่ มาเลย เรียกว่า พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558
3. ภาษีกองมรดก (Estate  Tax ) = ภาษีเก่า  จัดเก็บตามกฎหมายภาษีสรรพากร ที่เรียกว่าประมวลรัษฎากร

หลักการจัดเก็บภาษีแต่ละตัว คือ

ภาษีการให้ (Gift Tax)  จัดเก็บกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินโอนเงินได้ หรือ ทรัพย์สินให้กับบุคคลอื่นขณะที่ตนเองยังมีชีวิตอยู่ ข้อย้ำว่ายังมีชีวิตอยู่  เพราะถ้าเสียชีวิตแล้ว ไม่ถือว่าเป็นการให้
ฐานภาษีที่ต้องเสียภาษี (Tax Base) คือ มูลค่าของเงินได้ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ตลอดปี ภาษีนั้น เน้นเฉพาะส่วนที่เกิน 20 ล้านเป็นต้นไป ส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้าน ยกเว้นภาษี  และ ผู้มีเงินได้ หรือ ผู้เสียภาษี(ผู้รับจากการให้) มีสิทธิเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ ของเงินได้ของส่วนที่เกิน 20ล้านบาทโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณ กับเงิน ได้อย่างอื่นในปีภาษีนั้น  หรือ จะนำไปรวมกับเงินได้อย่างอื่นเพื่อคำนวณภาษีตามปกติก็ได้  สรุปก็คือ กฎหมายให้สิทธิเลือกวิธีการยื่นแบบการคำนวณการเสียภาษี
กรณียกเว้น 20 ล้านบาท  ทำได้เฉพาะผู้มีเงินได้หรือผู้รับ ที่เป็น บุพการี  คู่สมรส หรือผู้สืบสันดานเท่านั้น  แต่กรณีผู้มีเงินได้ หรือผู้รับ ที่ได้รับการอุปการะหรือการให้โดยเสน่หา เป็นบุคคลที่มิใช่บุพการี ผู้สืบสันดานหรือคู่สมรส  การยกเว้นให้นี้  จะเหลือเพียง 10 ล้านบาท  
ซึ่ง ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกิน10 ล้านบาทโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณ กับเงินได้อย่างอื่นในปีภาษีนั้น เช่นเดียวกัน

ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax)  จัดเก็บจากมูลค่าของทรัพย์มรดกตามประเภทที่กฎหมายกำหนด   ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์ หรือ อสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน โรงเรือน , หลักทรัพย์, เงินฝาก, ยานพาหนะ, และอื่นๆ (ตามที่กฎหมายจะประกาศออกมาทีหลัง)  ภาษีนี้จัดเก็บจากผู้ที่ได้รับมรดก  ในตอนที่เจ้าของทรัพย์สิน (เจ้ามรดก) เสียชีวิตไปแล้ว  ซึ่งต่างกับภาษีการให้ ตรงที่เจ้าของทรัพย์สินยังมีชีวิตอยู่
ฐานภาษี (Tax Base) ที่ต้องเสีย คือ มูลค่ามรดก ที่ได้รับ ส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท    อัตราภาษี ร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดก แต่ถ้าผู้รับมรดกเป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน อัตราภาษี ร้อยละ 5

ภาษีกองมรดก (Estate Tax)  จัดเก็บจากเงินได้ของกองมรดก ในขณะที่มรดกยังไม่ได้แบ่ง คือเจ้าของทรัพย์เสียชีวิตแล้ว มีกองมรดกเหลืออยู่ และในปีภาษี  มีเงินได้เกิดจากกองมรดกนั้น  ผู้จัดการมรดกที่ได้รับการแต่งตั้ง เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษี วิธีการคำนวณภาษี เช่นเดียวกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสรรพากรจัดเก็บภาษีประเภทนี้มานานแล้ว

มาถึงตรงนี้ ชาวคัสเม่ คงเข้าใจกันพอสมควรแล้วสำหรับกรณีภาษี 3 ประเภทนี้   ใครมีทรัพย์สินมาก ๆ  อาจถึงเวลาที่ต้องคิดกันแล้วล่ะว่า จะบริหารจัดการทรัพย์สินของตนเองอย่างไร จะยกให้เลย หรือจะรอไว้แบ่งเป็นมรดก สำหรับภาษีใหม่ทั้ง 2 ประเภทนี้ จะใช้บังคับ ภายใน 180 วัน นับแต่วันประกาศ เมื่อนับวันแล้ว ก็จะตกอยู่ที่เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2559  ดังนั้น ขณะนี้ยังมีเวลาในการวางแผนภาษีล่วงหน้าก่อนถึงวันสำคัญ เราจึงขอแนะนำให้ท่าน Tax Planning ซึ่งอาจช่วยลดความตื่นเต้นให้ท่านได้ ไม่มากก็น้อยสำหรับท่านที่เข้าข่ายกับกรณีนี้โดยตรง

ท่านสามารถติดตามข่าวสารและความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านภาษีและบัญชี  ได้ทั้งสองช่องทางคือ เว็บไซต์: www.kasmethai.com Facebook: www.facebook.com/kasme.thai  หรือเตรียม Update กฎหมายล่าสุด กับสถาบันคัสเม่ สำหรับการอบรม ในวันที่ 21 – 22  ตุลาคม นี้ ค่ะ


"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"

วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ผู้มีสิทธิขอคืนภาษี = ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายเท่านั้น ?



ตามหลักกฎหมายบัญญัตินั้น กำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิขอคืนภาษีจากกรมสรรพากร จะต้องเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายเท่านั้น มิอาจตีความขยายรวมไปถึง ผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ที่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บแทนผู้มีหน้าที่เสียภาษีไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อวินิจฉัยบางข้อ ที่เป็นกรณีที่สามารถทำได้ ท่านสามารถพิจารณาได้ตามกรณีศึกษาด้านล่าง ซึ่งถูกเผยแพร่โดยกรมสรรพากรค่ะ


" ความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว



นายหนึ่ง เป็นผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี ในวันดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีในส่วนที่เป็นรายได้ของท้องถิ่นจากนายหนึ่ง โดยระบุในใบเสร็จรับเงินว่าได้รับเงินจากนางสาวปุ้ม เจ้าของที่ดิน


ต่อมา กรมสรรพากรออกกฎหมายลดภาษีธุรกิจเฉพาะย้อนหลังให้ นายหนึ่งจึงยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีธุรกิจเฉพาะจากกรมสรรพากรเอง โดยไม่ได้ให้นางสาวปุ้มมอบอำนาจให้นายหนึ่งขอคืนภาษีในนามของนางสาวปุ้มแต่อย่างใด

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร คือ ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายในสามปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ซึ่งกำหนดให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายเท่านั้น กรณีนี้ นางสาวปุ้มจึงเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ตามข้อสัญญาท้ายประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ระบุให้ผู้ซื้อต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอนและค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากร และในหนังสือขอให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ ระบุให้เจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากรจากผู้ซื้อ กรณีนี้นายหนึ่งเป็นผู้ชำระเงินค่าภาษีตามข้อสัญญาท้ายประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงทำให้การขอคืนค่าภาษีจากกรมสรรพากรไม่อยู่ภายใต้บังคับของประมวลรัษฎากร ทำให้นายหนึ่งมีสิทธิ์ได้รับเงินภาษีธุรกิจเฉพาะคืนได้

(เทียบเคียงคำวินิจฉัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2557) "  (อ้างอิง: เว็บไซต์กรมสรรพากร)


"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"