วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล (Income Tax) กับแบบ ภ.ง.ด.51


เชื่อว่านักบัญชีหลายท่านคงคุ้นเคยกับแบบ ภ.ง.ด.51 ซึ่งเป็นแบบเพื่อยื่นภาษีกลางปีเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเวลานี้ที่ระยะเวลาสิ้นสุดของการยื่นแบบเริ่มเขยิบใกล้เข้ามาเรื่อยๆ นั่นคือสิ้นเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการยื่นแบบกระดาษ อย่างไรก็ตาม วันสุดท้ายในการยื่นแบบผ่านทางอินเตอร์เน็ต คือวันอังคารที่ 8 กันยายน 2558

ซึ่งโดยทั่วไป วัตถุประสงค์ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 นั้น ก็คือการที่ทางภาครัฐต้องการช่วยแบ่งเบาภาระในการชำระภาษีให้กับนิติบุคคล ให้มีการเสียภาษีอากรที่เป็นธรรม ตามมาตรา 67 ทวิ โดยวิธีให้นิติบุคคลทยอยชำระภาษีก่อนในรอบครึ่งปีแรก (โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.51 ประกอบในการยื่นแบบชำระภาษีกลางปี) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชำระภาษีเป็นจำนวนมากในตอนสิ้นปี (ในตอนสิ้นปี จะมีการนำแบบ ภ.ง.ด.50 มาใช้) และเงินภาษีที่ทางภาครัฐได้จัดเก็บยังสามารถนำมาใช้ในการบริหารพัฒนาประเทศในเวลาต่อไป

Note: มาตรา 67 ทวิ ได้กำหนดในผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

อย่างไรก็ตาม อาจยังมีหลายท่านที่ยังไม่คุ้นเคยนักกับแบบ ภ.ง.ด.51 หรือแบบในการยื่นภาษีกลางปี ทางเราจึงขออนุญาติเผยแพร่ความรู้ทั่วไป เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.51 ตามรายละเอียดดังนี้


การประมาณการเพื่อยื่นภาษีกลางปี หรือ ภ.ง.ด.51 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีกลางปี ต้องเข้าเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1.ต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ
2.ต้องมีรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือสุดท้าย 12 เดือนเต็ม
3.ภาษีที่ชำระไปแล้วถือเป็นเครดิตภาษี
4.กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ คำนวณได้ 2 วิธีคือ

4.1  โดยวิธีการเสียจากประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ที่ได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำ และจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป

4.2 โดยวิธีการเสียจากกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการในช่วง 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

สำหรับในข้อ 4.1 ซึ่งเป็นข้อที่เราจะกล่าวถึงนั้น เราจะมีหลักเกณฑ์ในการประมาณการ การคาดคะเน ที่ควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้

1.ประเภทของธุรกิจ
2.ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป
3.ข้อมูลและสถิติในการประมาณการ
4.นโยบายการบริหารของกิจการ
5.ความสามารถของผู้ทำประมาณการ
6.นโยบายบัญชี

ขั้นตอนการเตรียมข้อมูลในการจัดทำแบบ ภ.ง.ด.51

1.บันทึกบัญชีรายได้-ค่าใช้จ่าย (ระยะเวลาตั้งแต่เดือน 1-6 ให้ครบ)
2.บันทึกสินค้าคงเหลือต้นงวด-ปลายงวด (เดือน 1-6)
3.บันทึกค่าเสื่อมราคา
4.ปริ้นท์งบกำไรขาดทุนแบบประมาณการ รอบ 6 เดือน
5.นำข้อ 4 มากรอกในแบบฟอร์มประมาณการ Excel ในช่อง 6 เดือนแรก แล้วประมาณการ 6 เดือนหลัง
6.นำข้อมูลในข้อ 5 มากรอกแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี (ภ.ง.ด.51)

ผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51

1.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

>> บริษัทจำกัด
>> บริษัทมหาชน จำกัด
>> ห้างหุ้นส่วน จำกัด
>> ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

กรณีบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีสาขาไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกประเทศไทย จะต้องนำกำไรสุทธิของสาขามารวมกำไรสุทธิของสำนักงานใหญ่ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย

2.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ได้แก่

>> บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย
>> บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบุคคลผู้จ้างเป็นลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรดังกล่าว

3.กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางการค้า หรือ หากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

4.กิจการร่วมค้า

ผู้ที่ไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51

1.บริษัทที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเป็นปีแรก รอบบัญชีไม่เต็ม 12 เดือน
2.บริษัทที่ปิดกิจการ ซึ่งรอบบัญชีปีสุดท้ายไม่เต็ม 12 เดือน
3.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้เปลี่ยนแปลงวันสุดท้ายของรอบบัญชี โดยรอบเวลาดังกล่าวมีกำหนดไม่เกิน 6 เดือน


Note:

ภ.ง.ด.51 ที่ยื่นภาษีแล้ว ต้องเตรียมสำเนาเพื่อใช้ในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระทั้งปีในแบบ ภ.ง.ด.50 ด้วยเช่นกัน (สำหรับกิจการที่มีรอบบัญชีปกติในปฏิทิน คือ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน หรือ สิ้นเดือน พ.ค. ของปีถัดไป)


"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น