วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิม&จัดทำฉบับใหม่




ใบกำกับภาษีคืออะไร

- เอกสารสำคัญที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องจัดทำให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
- รายละเอียดสำคัญที่แสดงในใบกำกับภาษี ประกอบด้วยมูลค่าของสินค้าหรือบริการ + จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ขายเรียกเก็บ


กรณีใบกำกับภาษีมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้อง หรือได้รับการขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ควรทำอย่างไร ?

สำหรับกรณีนี้ กรมสรรพากรมีแนวปฏิบัติเพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ สามารถใช้ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากรได้โดยไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกในขณะที่ใบกำกับภาษีได้ออกและส่งมอบกันไปก่อนแล้ว ดังนี้

อ้างอิงจาก : www.rd.go.th



1. ให้เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมและนำมาประทับตราว่า "ยกเลิก" หรือ ขีดฆ่าแล้วเก็บรวบรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม



2. จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลงวัน เดือน ปี ให้ตรงกับ วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม

3. หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า "เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่... เล่มที่.... " และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย

4. ผู้ประกอบการที่ขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและออกฉบับใหม่ ต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิม (ฉบับที่ขอยกเลิก) ติดเรื่องไว้และส่งมอบใบกำกับภาษีฉบับที่ขอยกเลิกคืนให้ผู้ออกใบกำกับภาษีนำไปรวมกับสำเนาไว้เป็นหลักฐาน

5. ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ หมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายประจำเดือนที่ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนด้วย

6. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีระบบซอฟต์แวร์ในระบบงานจัดทำใบกำกับภาษีบันทึกเข้าระบบบัญชีแยกประเภทโดยอัตโนมัติ ถ้าระบบซอฟต์แวร์ดังกล่าวไม่สามารถระบุวัน เดือน ปี ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ดังนี้

6.1 จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยมีรายการคำว่า "ใบกำกับภาษี" ชื่อ ที่อยู่ และ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษี และคำว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ได้จัดทำขึ้นโดยตีพิมพ์ ผู้เสียภาษีจะพิมพ์รายการอื่นๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยวิธีตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฎขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

6.2 จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยมีรายการคำว่า "ใบกำกับภาษี" ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีและคำว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ทั้งสามรายการหรือเพียงรายการหนึ่งรายการใด ได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ผู้เสียภาษีจะต้องพิมพ์รายการอื่นๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น

ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องในส่วนของใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากรดังกล่าว สามารถนำมาปรับใช้กับกรณีใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ด้วย

"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประกันชีวิตกับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี

เชื่อว่าหลายๆท่าน เมื่อได้ถูกเชิญชวนให้ทำประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในรูปการถูกชักชวนผ่านทางโทรศัพท์ หรือผ่านทางบู๊ธในห้างสรรพสินค้า มีจำนวนไม่น้อยที่พยายามปฏิเสธจากการถูกชักชวนให้ทำประกันชีวิต

แต่เราทราบหรือไม่คะว่า จริงแล้ว การทำประกันชีวิต นอกจากที่เราจะได้รับสิทธิคุ้มครองชีวิตแล้ว การทำประกันยังถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยในการออมทรัพย์ที่นับเป็นทางเลือกของการลงทุนแบบหนึ่ง และยังมีประโยชน์ในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราควรคำนึงก่อนที่จะเริ่มทำประกันชีวิตนั้นคือ ความพร้อมทางด้านการเงินในการชำระเบี้ยประกัน ซึ่งกรณีที่ถ้าเริ่มทำตั้งแต่อายุยังน้อยหรือเริ่มทำงาน ค่าเบี้ยประกันจะถูกกว่าคนที่มีอายุมากกว่า ส่งผลให้สามารถได้รับผลตอบแทนที่สูงพร้อมสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี

เบี้ยประกันกับสิทธิในการลดหย่อนภาษี แบ่งพอสรุปได้สามประเภทคือ

เบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ สามารถนำไปยกเว้นภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ ครูโรงเรียนเอกชน หรือค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

สำหรับเงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ดังนี้ค่ะ


อ้างอิงจาก: กรมสรรพากร www.rd.go.th

เบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท 
ทั้งนี้มีเงื่อนไขประกอบด้วย



ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีอายุกรมธรรม์ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
เป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัย
เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักรไทย
>>> จึงจะสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระไปหักลดหย่อนภาษีได้ทุกปีที่มีการจ่ายเบี้ยประกัน <<<

สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิต ที่เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป
การหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต
บริษัทผู้รับประกันต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิต (สัญญาหลัก) แยกออกจาก จำนวนเบี้ยประกันสุขภาพ (สัญญาเพิ่มเติมอื่นๆ)
บริษัทผู้รับประกันต้องระบุเงื่อนไขกรมธรรม์ กรณีที่มีการรับเงินตอบแทนคืนระหว่างอายุกรมธรรม์

กรมธรรม์ประกันชีวิต ที่มีความคุ้มครองอื่นๆ เพิ่มเติมในส่วนของเบี้ยประกันส่วนควบ ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้

กรมธรรม์ที่มีการรับเงิน หรือ ผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
กรณีได้รับเงินตอบแทนคืนทุกปี จะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี
กรณีได้รับเงินตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดในกรมธรรม์ จะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลาที่มีการจ่ายเงินตอบแทนคืน
กรณีได้รับเงินตอบแทนคืนที่ไม่เข้าทั้งสองข้อบน ผลรวมของเงินตอบแทนคืนสะสม ตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงินตอบแทนคืน ต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ เงินตอบแทนคืนทั้ง 3 ข้อ ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ หรือเงินตอบแทนคืนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการชำระเบี้ยประกันแล้ว หรือเงินตอบแทนคืนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์

ผู้มีเงินได้สามารถใช้หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิต เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีได้
โดยบริษัทต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันสุขภาพแยกออกจากกัน และ
กรมธรรม์ที่มีการรับเงินตอบแทนคืนระหว่างอายุกรมธรรม บริษัทต้องระบุเงื่อนไขด้วย

กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ ให้หักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท เช่น ถ้าสามีมีเงินได้ แต่ภรรยาไม่มีเงินได้ ต่างฝ่ายต่างทำประกันชีวิตของตนเองไว้ สามีสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตของภรรยามาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

กรณีเบี้ยประกันชีวิตของบุตร บิดา หรือมารดา เป็นผู้ชำระเบี้ยประกัน จะนำเบี้ยประกันชีวิตของบุตรที่จ่ายไปนั้นมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ของบิดาหรือมารดาไม่ได้



เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ สามารถนำไปยกเว้นภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท มีเงื่อนไขประกอบด้วย

ยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายสำหรับประกันสุขภาพบิดามารดา ให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรไทย

บิดามารดาแต่ละคน มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีที่ขอยกเว้น

ผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา

ผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพให้บิดามารดา ให้เฉลี่ยเบี้ยประกันตามจำนวนผู้มีเงินได้แต่ไม่เกิน 15,000 บาท


ผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้ยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น


ผู้มีเงินได้ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกัน ที่ระบุชื่อ-ที่อยู่ผู้รับประกัน ชื่อ-นามสกุลผู้เอาประกัน ชื่อ-นามสกุลผู้ชำระเบี้ยประกัน(ทุกคน) จำนวนเบี้ยประกัน จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษี



เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ ครูโรงเรียนเอกชน หรือค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท มีเงื่อนไขประกอบด้วย

เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยและต้องเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักรไทย


ผู้มีเงินได้จะได้รับผลประโยชน์ เงินบำนาญ เมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปีหรือมากกว่า ทั้งนี้ ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ


ผู้มีเงินได้ ได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ ต้องกำหนดจ่ายเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอขณะมีชีวิตอยู่

ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า การทำประกันชีวิตนอกจากจะให้สิทธิคุ้มครองชีวิตและเป็นวิธีการออมอีกวิธีหนึ่งแล้ว ยังให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการลงทุนในส่วนนี้ เราต้องอย่าลืมคำนึงถึงความพร้อมทางด้านการเงินในการชำระเบี้ยประกันด้วยเช่นกันนะคะ

จากใจ สถาบันคัสเม่

"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ภาษีซื้อต้องห้ามและกรณีที่สามารถนำมาคำนวณกำไรสุทธิได้



ภาษีซื้อ จะเกิดขึ้นเมื่อเรามีการชำระค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับใบกำกับภาษี ซึ่งถ้าในกรณีที่เรา (ผู้ซื้อ) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะมีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ นำมาใช้ในการขอคืนภาษีซื้อ วิธีปฏิบัตินี้สามารถช่วยผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการได้ในส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะประสบก็คือ ภาษีซื้อบางส่วนเข้าข่ายว่าเป็น “ภาษีซื้อต้องห้าม” นั่นหมายถึง มูลค่าของภาษีซื้อต้องห้ามเหล่านี้ไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือสามารถนำมาขอคืนภาษีซื้อได้

คำถาม: จะทราบได้อย่างไรว่าภาษีซื้อแบบใดอยู่ในประเภทของ “ภาษีซื้อต้องห้าม” ?

ภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 17) และ (ฉบับที่ 42)

อ้างอิงจาก www.rd.go.th

ภาษีซื้อจากใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
- ใบกำกับภาษีที่ได้จากบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่อยู่นอกราชอาณาจักรและมีตัวแทนออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทรัพย์สินถูกนำออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น หรือโดยบุคคลอื่น และใบกำกับภาษีไม่สามารถพิสูจน์ผู้ขายและการชำระค่าสินค้าหรือบริการได้

ไม่มีใบกำกับภาษีหรือไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีได้
-       - เนื่องจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไม่ออกใบกำกับภาษี หรือ 
     - ออกใบกำกับภาษีแต่ระบุชื่อบุคคลอื่น หรือ
        -  มีใบกำกับภาษีแต่ไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ เป็นกรณีที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการจริงแต่ไม่อาจแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากรได้

ใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้อง สมบูรณ์
-       - ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้กอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน
-       - ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่ามหรสพ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกีฬา และค่าใช้จ่ายอื่นๆทำนองเดียวกัน

 ภาษีซื้อดังต่อไปนี้ ตามข้อกฏหมายถือว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหักกับภาษีขาย หรือ นำมาขอคืนภาษีซื้อ แต่ผู้ประกอบการสามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามปกติ

ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
-       - ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอน
-       - ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต 
      (ยกเว้นการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง และการให้บริการรับประกันวินาศภัยสำหรับรถยนต์ดังกล่าว)

ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ที่ไม่ใช่รถยนต์นั่งและไม่ใช่รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฏหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและต่อมาภายใน 3 ปีนับแต่เดือนภาษีที่ได้ครอบครองรถยนต์ ได้มีการดัดแปลงเป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฏหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
-       - ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอน ถือว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้าม
(ยกเว้นการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10คน ตามกฏหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตและการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง)

ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้/จะใช้ หรือรายจ่าย
-       - ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีซื้อ ที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น เพื่อนำมาใช้ในกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อนี้มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขาย แต่
-       - ต่อมา ผู้ประกอบการได้ขายหรือให้เช่าอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น หรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้อนั้นถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตั้งแต่ต้น

ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
-       - รายการในใบกำกับภาษี ไม่ได้พิมพ์ หรือ ไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ

ภาษีซื้อ ตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
-       - มีข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนดในใบกำกับภาษี แต่ไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
-       - ฉบับที่เป็นสำเนา (ยกเว้นใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่นซึ่งมีจำนวนหลายฉบับและใบกำกับภาษีมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ปรากฎอยู่ด้วย)

ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
-       - รายการ ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ไม่ได้พิมพ์ขึ้น หรือ ไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ

ภาษีซื้อ ตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
-       - รายการได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง จนกลายเป็นภาษีซื้อต้องห้าม (ยกเว้นการแก้ไขที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษี ด้วยวิธีการประทับตรายางที่อยู่ที่ถูกต้องเพิ่มเติม หรือด้วยวิธีอื่นใด พร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ออกใบกำกับภาษี กำกับการแก้ไข ทั้งนี้ เฉพาะใบกำกับฯที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้าน ชื่อถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัด หรือได้ทำการแบ่งเขตถนน หมู่บ้าน ตำบล หรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัดใหม่)

ภาษีซื้อ ส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนำไปใช้ หรือ จะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด


"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"