อ้างอิงจากเว็บไซต์กรมสรรพากร (www.rd.go.th)
ตามที่กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 199) เรื่องกำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2556 โดยกำหนดให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ ต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและรายการสถานประกอบการของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตลอดจนรายการสถานประกอบการของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไว้ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการจัดทำใบกำกับภาษีดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไปนั้น
สำหรับผู้ขายสินค้า หรือ ผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
>> ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ จะต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการไว้ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
กรณีผู้ซื้อหรือผู้รับบริการไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
>> ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไม่ต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้นไว้ในใบกำกับภาษีแต่อย่างใด
กรณีผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการได้แจ้งให้ลูกค้าทราบเกี่ยวกับการแจ้งรายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษี โดยการปิดประกาศ หรือโดยวิธีการอื่นใดแล้ว เช่น ข้อความประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ หรือบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใด
>> หากผู้ซื้อสินค้าไม่ได้แจ้งรายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรให้ทราบหรือแจ้งว่าไม่ได้ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ขายสินค้าออกใบกำกับภาษีโดยไม่ระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าไว้ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
ให้ถือว่าผู้ขายสินค้ามิได้มีเจตนาที่จะออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีรายการไม่ครบถ้วนตามกฎหมายแต่อย่างใด
ความรับผิดชอบของผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ กรณีภาษีซื้อต้องห้าม
ผู้ซื้อสินค้า ต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและรายการสถานประกอบการที่ซื้อสินค้าของตนเอง เมื่อมีการซื้อสินค้าหรือรับบริการเพื่อผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการระบุรายการดังกล่าวให้ครบในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
ถ้าผู้ซื้อสินค้ามิได้แจ้งรายการดังกล่าวและได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ซึ่งไม่มีรายการดังกล่าวนั้น ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีนั้นก็จะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่สามารถนำไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/5 (2) แห่งประมวลรัษฎากรและถ้าการที่ไม่ได้แจ้งรายการดังกล่าวนั้นมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรก็จะต้องรับผิดตามกฎหมายต่อไป
สำหรับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
กรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่จำต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตนเองให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการแต่อย่างใด
"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ" |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น