ใบกำกับภาษีคืออะไร
- เอกสารสำคัญที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องจัดทำให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
- รายละเอียดสำคัญที่แสดงในใบกำกับภาษี ประกอบด้วยมูลค่าของสินค้าหรือบริการ + จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ขายเรียกเก็บ
กรณีใบกำกับภาษีมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้อง หรือได้รับการขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ควรทำอย่างไร ?
สำหรับกรณีนี้ กรมสรรพากรมีแนวปฏิบัติเพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ สามารถใช้ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากรได้โดยไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกในขณะที่ใบกำกับภาษีได้ออกและส่งมอบกันไปก่อนแล้ว ดังนี้
อ้างอิงจาก : www.rd.go.th
1. ให้เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมและนำมาประทับตราว่า "ยกเลิก" หรือ ขีดฆ่าแล้วเก็บรวบรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม
2. จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลงวัน เดือน ปี ให้ตรงกับ วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม
3. หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า "เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่... เล่มที่.... " และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย
4. ผู้ประกอบการที่ขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและออกฉบับใหม่ ต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิม (ฉบับที่ขอยกเลิก) ติดเรื่องไว้และส่งมอบใบกำกับภาษีฉบับที่ขอยกเลิกคืนให้ผู้ออกใบกำกับภาษีนำไปรวมกับสำเนาไว้เป็นหลักฐาน
5. ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ หมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายประจำเดือนที่ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนด้วย
6. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีระบบซอฟต์แวร์ในระบบงานจัดทำใบกำกับภาษีบันทึกเข้าระบบบัญชีแยกประเภทโดยอัตโนมัติ ถ้าระบบซอฟต์แวร์ดังกล่าวไม่สามารถระบุวัน เดือน ปี ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ดังนี้
6.1 จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยมีรายการคำว่า "ใบกำกับภาษี" ชื่อ ที่อยู่ และ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษี และคำว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ได้จัดทำขึ้นโดยตีพิมพ์ ผู้เสียภาษีจะพิมพ์รายการอื่นๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยวิธีตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฎขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
6.2 จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยมีรายการคำว่า "ใบกำกับภาษี" ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีและคำว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ทั้งสามรายการหรือเพียงรายการหนึ่งรายการใด ได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ผู้เสียภาษีจะต้องพิมพ์รายการอื่นๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องในส่วนของใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากรดังกล่าว สามารถนำมาปรับใช้กับกรณีใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ด้วย
"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ" |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น