วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประกันชีวิตกับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี

เชื่อว่าหลายๆท่าน เมื่อได้ถูกเชิญชวนให้ทำประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในรูปการถูกชักชวนผ่านทางโทรศัพท์ หรือผ่านทางบู๊ธในห้างสรรพสินค้า มีจำนวนไม่น้อยที่พยายามปฏิเสธจากการถูกชักชวนให้ทำประกันชีวิต

แต่เราทราบหรือไม่คะว่า จริงแล้ว การทำประกันชีวิต นอกจากที่เราจะได้รับสิทธิคุ้มครองชีวิตแล้ว การทำประกันยังถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยในการออมทรัพย์ที่นับเป็นทางเลือกของการลงทุนแบบหนึ่ง และยังมีประโยชน์ในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราควรคำนึงก่อนที่จะเริ่มทำประกันชีวิตนั้นคือ ความพร้อมทางด้านการเงินในการชำระเบี้ยประกัน ซึ่งกรณีที่ถ้าเริ่มทำตั้งแต่อายุยังน้อยหรือเริ่มทำงาน ค่าเบี้ยประกันจะถูกกว่าคนที่มีอายุมากกว่า ส่งผลให้สามารถได้รับผลตอบแทนที่สูงพร้อมสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี

เบี้ยประกันกับสิทธิในการลดหย่อนภาษี แบ่งพอสรุปได้สามประเภทคือ

เบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ สามารถนำไปยกเว้นภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ ครูโรงเรียนเอกชน หรือค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

สำหรับเงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ดังนี้ค่ะ


อ้างอิงจาก: กรมสรรพากร www.rd.go.th

เบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท 
ทั้งนี้มีเงื่อนไขประกอบด้วย



ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีอายุกรมธรรม์ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
เป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัย
เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักรไทย
>>> จึงจะสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระไปหักลดหย่อนภาษีได้ทุกปีที่มีการจ่ายเบี้ยประกัน <<<

สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิต ที่เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป
การหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต
บริษัทผู้รับประกันต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิต (สัญญาหลัก) แยกออกจาก จำนวนเบี้ยประกันสุขภาพ (สัญญาเพิ่มเติมอื่นๆ)
บริษัทผู้รับประกันต้องระบุเงื่อนไขกรมธรรม์ กรณีที่มีการรับเงินตอบแทนคืนระหว่างอายุกรมธรรม์

กรมธรรม์ประกันชีวิต ที่มีความคุ้มครองอื่นๆ เพิ่มเติมในส่วนของเบี้ยประกันส่วนควบ ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้

กรมธรรม์ที่มีการรับเงิน หรือ ผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
กรณีได้รับเงินตอบแทนคืนทุกปี จะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี
กรณีได้รับเงินตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดในกรมธรรม์ จะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลาที่มีการจ่ายเงินตอบแทนคืน
กรณีได้รับเงินตอบแทนคืนที่ไม่เข้าทั้งสองข้อบน ผลรวมของเงินตอบแทนคืนสะสม ตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงินตอบแทนคืน ต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ เงินตอบแทนคืนทั้ง 3 ข้อ ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ หรือเงินตอบแทนคืนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการชำระเบี้ยประกันแล้ว หรือเงินตอบแทนคืนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์

ผู้มีเงินได้สามารถใช้หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิต เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีได้
โดยบริษัทต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันสุขภาพแยกออกจากกัน และ
กรมธรรม์ที่มีการรับเงินตอบแทนคืนระหว่างอายุกรมธรรม บริษัทต้องระบุเงื่อนไขด้วย

กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ ให้หักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท เช่น ถ้าสามีมีเงินได้ แต่ภรรยาไม่มีเงินได้ ต่างฝ่ายต่างทำประกันชีวิตของตนเองไว้ สามีสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตของภรรยามาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

กรณีเบี้ยประกันชีวิตของบุตร บิดา หรือมารดา เป็นผู้ชำระเบี้ยประกัน จะนำเบี้ยประกันชีวิตของบุตรที่จ่ายไปนั้นมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ของบิดาหรือมารดาไม่ได้



เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ สามารถนำไปยกเว้นภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท มีเงื่อนไขประกอบด้วย

ยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายสำหรับประกันสุขภาพบิดามารดา ให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรไทย

บิดามารดาแต่ละคน มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีที่ขอยกเว้น

ผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา

ผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพให้บิดามารดา ให้เฉลี่ยเบี้ยประกันตามจำนวนผู้มีเงินได้แต่ไม่เกิน 15,000 บาท


ผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้ยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น


ผู้มีเงินได้ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกัน ที่ระบุชื่อ-ที่อยู่ผู้รับประกัน ชื่อ-นามสกุลผู้เอาประกัน ชื่อ-นามสกุลผู้ชำระเบี้ยประกัน(ทุกคน) จำนวนเบี้ยประกัน จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษี



เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ ครูโรงเรียนเอกชน หรือค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท มีเงื่อนไขประกอบด้วย

เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยและต้องเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักรไทย


ผู้มีเงินได้จะได้รับผลประโยชน์ เงินบำนาญ เมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปีหรือมากกว่า ทั้งนี้ ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ


ผู้มีเงินได้ ได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ ต้องกำหนดจ่ายเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอขณะมีชีวิตอยู่

ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า การทำประกันชีวิตนอกจากจะให้สิทธิคุ้มครองชีวิตและเป็นวิธีการออมอีกวิธีหนึ่งแล้ว ยังให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการลงทุนในส่วนนี้ เราต้องอย่าลืมคำนึงถึงความพร้อมทางด้านการเงินในการชำระเบี้ยประกันด้วยเช่นกันนะคะ

จากใจ สถาบันคัสเม่

"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น