ที่มา:
เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th
ตามที่กรมสรรพากร ได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตาม กฎหมายไทย
เป็นจำนวนเท่ากับภาษีเงินได้ที่เสียไปในต่างประเทศ "แต่ไม่เกินจำนวนภาษี ที่ต้องเสียในประเทศไทย" โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1. นิติบุคคลไทย ได้เสียภาษีเงินได้ในต่างประเทศ เนื่องจากการประกอบ
กิจการในต่างประเทศ หรือ เสียภาษีจากรายได้ที่รับจาก นิติบุคคลต่างประเทศ
2. นิติบุคคลไทย ไม่มีสิทธินำภาษีเงินได้ที่ได้เสียไปในต่างประเทศซึ่งได้
นำมาเครดิตภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิได้อีก
3. นิติบุคคลไทย ต้องเก็บเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษีในต่างประเทศ ที่หน่วยงานจัดเก็บภาษีเงินได้ของต่างประเทศ รับรอง มีคำแปลเป็นภาษาไทยหรือ
ภาษาอังกฤษ
ใช้เลขไทยหรืออารบิก รวมทั้งต้องมีรายการอย่างน้อยได้แก่
1) ชื่อผู้มีเงินได้
2) รายการเงินได้
3) จำนวนภาษีที่ได้เสียไปแล้วในต่างประเทศ เพื่อแสดงเมื่อเจ้าพนักงานตรวจสอบ
4. การคำนวณหาจำนวนภาษีที่ต้องเสียให้คำนวณตามหลักเกณฑ์ดังนี้
4.1 กรณีนิติบุคคลไทย ได้รับเงินจากการประกอบกิจการในต่างประเทศ ให้นำรายได้ จากกิจการต่างประเทศ หักด้วย รายจ่ายตามกฎหมาย แล้วคูณด้วย อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้เป็นจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย
จำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย = (รายได้จากกิจการต่างประเทศ - รายจ่ายตามกฎหมาย) x อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
4.2 กรณีนิติบุคคลไทย ได้รับเงินจาก นิติบุคคลต่างประเทศ ให้นำเงินดังกล่าว คูณด้วย อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้เป็นจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย
จำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย
= จำนวนเงินที่ได้รับจากนิติบุคคลต่างประเทศ
x อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
4.3 กรณีนิติบุคคลไทย ได้รับเงินทั้งจากการประกอบกิจการในต่างประเทศ และ เงินจากนิติบุคคลต่างประเทศจากประเทศเดียวกัน การคำนวณหาจำนวนภาษีที่ต้องเสียใน
ประเทศไทย
คำนวณตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4.1
จำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย = (รายได้จากกิจการต่างประเทศ
- รายจ่ายตามกฏหมาย)
x อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
5. ภาษีที่เสียไปในต่างประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณค่าหรือราคา เป็นเงินตราไทย ตามราคาตลาดในวันที่ได้มีการชำระภาษีดังกล่าวนั้น
ภาษีที่เสียในต่างประเทศมูลค่าบาทไทย
= ภาษีที่เสียในต่างประเทศสกุลเงินตราต่างประเทศ
x อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทย
ตามราคาตลาด
ณ วันที่ชำระภาษี
ตัวอย่าง: ภาษีที่เสียในต่างประเทศ = 300 เหรียญสหรัฐ (USD) เสียภาษี ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2558
อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลล่าร์เป็นเงินบาทไทย ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ตามราคาตลาด: 1 USD (US Dollars) =
33.64* THB (Thai Baht)
ภาษีที่เสียในต่างประเทศเมื่อคำนวณเป็นเงินบาทไทย = 300 x 33.64 =
10,092 บาท
*ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลง รายละเอียดเพิ่มเติม www.bot.or.th
6. การคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่ได้จากการประกอบกิจการ ในต่างประเทศ ให้คำนวณค่าหรือราคา เป็นเงินตราไทย ตามบทบัญญัติมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีตัวอย่าง
บริษัท XYZ เป็นนิติบุคคล จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายของประเทศไทย ประกอบกิจการขายส่ง ขายปลีกคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทั้งฮาร์ดแวร์และ
ซอฟท์แวร์
ให้บริการคำปรึกษาและบริการจัดการระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ โดยบริษัทได้ให้บริการแก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กรณีลูกค้าในต่างประเทศ จะมีทั้งประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย และประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย บริษัทจึงขอทราบว่า
กรณีบริษัท XYZ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศ ที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน
กับประเทศไทย หากบริษัทได้นำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศดังกล่าว มาเครดิตภาษีที่ต้องเสีย
ในประเทศไทยตามอนุสัญญาภาษีซ้อนแล้ว ปรากฎว่า ยังมีจำนวนภาษีที่ได้เสียไปแล้วในต่าง ประเทศ ยังเหลืออยู่
บริษัทมีสิทธินำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไร
สุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทในประเทศไทยได้หรือไม่ อย่างไร ?
แนววินิจฉัย
กรณีบริษัท XYZ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศซึ่งเป็นประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน
กับประเทศไทย หากบริษัทได้นำเงินได้ทั้งจำนวนที่ได้รับจากการให้บริการดังกล่าว โดยไม่ หักภาษีที่เสียไว้ใน
ต่างประเทศ บวกกลับเป็นรายได้ของบริษัทและได้นำภาษีดังกล่าวมา
ขอเครดิตในการคำนวณ ภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยใช้สิทธิประโยชน์ ในฐานะผู้มีถิ่นที่ อยู่ใน
ประเทศไทย ตามบทบัญญัติ ในอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำกับประเทศต่างๆ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 โดยการใช้สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญา
ภาษีซ้อนฉบับดังกล่าว มีผลต่าง ของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษี ที่ขอเครดิต บริษัทมีสิทธินำมา หักเป็นรายจ่ายใน การคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตาม มาตรา 65 ตรี
(6) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีตัวอย่าง 2
บริษัท XYZ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับ
ประเทศไทย หากบริษัทได้นำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศ มาเครดิตภาษีที่ต้องเสีย
ในประเทศไทย
ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 โดยปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับ
ภาษีเงินได้
(ฉบับที่ 65) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ให้ แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ตั้งขึ้น
ตามกฎหมายไทย
ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 ปรากฎว่า ยังมีจำนวน ภาษีที่ได้เสียไปแล้วในต่างประเทศยังเหลืออยู่ บริษัทมีสิทธิ นำเครดิตภาษีดังกล่าว มาลงเป็น
รายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงิน ได้นิติบุคคลของบริษัท ในประเทศไทย ได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย 2
กรณี บริษัท XYZ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศซึ่งเป็นประเทศที่
ไม่มีอนุสัญญาภาษี ซ้อนกับ ประเทศไทย หากบริษัทได้นำภาษี ที่ถูกจัดเก็บในประเทศคู่ค้ามายกเว้นภาษี ที่ต้องเสียในประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 โดยปฏิบัติ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวภับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 หากปรากฎว่า การใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว มีผลต่างของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศ กับ จำนวนภาษีที่ขอยกเว้น บริษัท มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประวมลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539
กรณีตัวอย่าง 3
บริษัท XYZ มีสิทธินำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศ มาเครดิตภาษีที่ต้องเสีย ในประเทศไทย ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน และมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 โดยปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 หรือเลือกนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่าง
ประเทศมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัท ในประเทศไทย บริษัทมีสิทธิเลือกจะนำภาษีที่เสียไปแล้วในต่างประเทศบางประเทศมาเครดิตภาษีที่ถูกจัดเก็บในประเทศไทย และหรือมาลงเป็นรายจ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงิน ได้นิติบุคคลของบริษัท ได้หรือไม่ หรือจะต้องนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศทุกประเทศ
มา รวมกันทั้งหมดมาเครดิตภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย หรือนำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณ
กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัท
แนววินิจฉัย 3
บริษัท XYZ มีสิทธิในการเลือกเพื่อบรรเทาภาระภาษีที่เสียไปในต่างประเทศ โดยแยกพิจารณาออกเป็นแต่ละประเทศ ตามวิธีการใดวิธีการหนึ่ง สำหรับแต่ละรอบระยะ
เวลาบัญชี
ดังต่อไปนี้
3.1 เลือกนำมาลงรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
3.2 เลือกนำภาษีที่เสียไปในต่างประเทศ มาขอเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยใช้สิทธิประโยชน์ในฐานะผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ตามบทบัญญัติในอนุสัญญาภาษีซ้อน ที่ประเทศไทยได้ทำกับประเทศต่างๆ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 ในกรณีที่บริษัท ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย หรือ
3.3 เลือกนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศ มายกเว้นภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 โดยปฏิบัติตามข้อ 10 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 "หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ" |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น