วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ภาษีซื้อต้องห้ามและกรณีที่สามารถนำมาคำนวณกำไรสุทธิได้



ภาษีซื้อ จะเกิดขึ้นเมื่อเรามีการชำระค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับใบกำกับภาษี ซึ่งถ้าในกรณีที่เรา (ผู้ซื้อ) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะมีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ นำมาใช้ในการขอคืนภาษีซื้อ วิธีปฏิบัตินี้สามารถช่วยผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการได้ในส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะประสบก็คือ ภาษีซื้อบางส่วนเข้าข่ายว่าเป็น “ภาษีซื้อต้องห้าม” นั่นหมายถึง มูลค่าของภาษีซื้อต้องห้ามเหล่านี้ไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือสามารถนำมาขอคืนภาษีซื้อได้

คำถาม: จะทราบได้อย่างไรว่าภาษีซื้อแบบใดอยู่ในประเภทของ “ภาษีซื้อต้องห้าม” ?

ภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 17) และ (ฉบับที่ 42)

อ้างอิงจาก www.rd.go.th

ภาษีซื้อจากใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
- ใบกำกับภาษีที่ได้จากบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่อยู่นอกราชอาณาจักรและมีตัวแทนออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทรัพย์สินถูกนำออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น หรือโดยบุคคลอื่น และใบกำกับภาษีไม่สามารถพิสูจน์ผู้ขายและการชำระค่าสินค้าหรือบริการได้

ไม่มีใบกำกับภาษีหรือไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีได้
-       - เนื่องจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไม่ออกใบกำกับภาษี หรือ 
     - ออกใบกำกับภาษีแต่ระบุชื่อบุคคลอื่น หรือ
        -  มีใบกำกับภาษีแต่ไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ เป็นกรณีที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการจริงแต่ไม่อาจแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากรได้

ใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้อง สมบูรณ์
-       - ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้กอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน
-       - ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่ามหรสพ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกีฬา และค่าใช้จ่ายอื่นๆทำนองเดียวกัน

 ภาษีซื้อดังต่อไปนี้ ตามข้อกฏหมายถือว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหักกับภาษีขาย หรือ นำมาขอคืนภาษีซื้อ แต่ผู้ประกอบการสามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามปกติ

ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
-       - ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอน
-       - ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต 
      (ยกเว้นการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง และการให้บริการรับประกันวินาศภัยสำหรับรถยนต์ดังกล่าว)

ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ที่ไม่ใช่รถยนต์นั่งและไม่ใช่รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฏหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและต่อมาภายใน 3 ปีนับแต่เดือนภาษีที่ได้ครอบครองรถยนต์ ได้มีการดัดแปลงเป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฏหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
-       - ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอน ถือว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้าม
(ยกเว้นการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10คน ตามกฏหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตและการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง)

ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้/จะใช้ หรือรายจ่าย
-       - ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีซื้อ ที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น เพื่อนำมาใช้ในกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อนี้มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขาย แต่
-       - ต่อมา ผู้ประกอบการได้ขายหรือให้เช่าอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น หรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้อนั้นถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตั้งแต่ต้น

ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
-       - รายการในใบกำกับภาษี ไม่ได้พิมพ์ หรือ ไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ

ภาษีซื้อ ตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
-       - มีข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนดในใบกำกับภาษี แต่ไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
-       - ฉบับที่เป็นสำเนา (ยกเว้นใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่นซึ่งมีจำนวนหลายฉบับและใบกำกับภาษีมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ปรากฎอยู่ด้วย)

ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
-       - รายการ ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ไม่ได้พิมพ์ขึ้น หรือ ไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ

ภาษีซื้อ ตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
-       - รายการได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง จนกลายเป็นภาษีซื้อต้องห้าม (ยกเว้นการแก้ไขที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษี ด้วยวิธีการประทับตรายางที่อยู่ที่ถูกต้องเพิ่มเติม หรือด้วยวิธีอื่นใด พร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ออกใบกำกับภาษี กำกับการแก้ไข ทั้งนี้ เฉพาะใบกำกับฯที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้าน ชื่อถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัด หรือได้ทำการแบ่งเขตถนน หมู่บ้าน ตำบล หรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัดใหม่)

ภาษีซื้อ ส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนำไปใช้ หรือ จะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด


"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น