วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เทคนิคการประมาณการรายได้ค่าใช้จ่าย ที่ช่วยให้ปลอดภัยจากเบี้ยปรับ (ภ.ง.ด.51)



ประมาณการรายได้ค่าใช้จ่ายอย่างไร ให้ปลอดภัยจากเบี้ยปรับ ?

ถ้าจะแปลไทยเป็นไทย โดยพูดแบบภาษาบ้านๆก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะยื่นภาษีกลางปี (ภ.ง.ด.51) โดยไม่ให้โดนเบี้ยปรับบบ ซึ่งจากการที่เราโชว์กำไรให้สรรพากรน้อยเกินไป นั่นคือ ขาดไป 25% จากความเป็นจริง ซึ่งกำไรที่แท้จริงจะรู้ก็ต่อเมื่อในตอนสิ้นปีเท่านั้น

แน่นอนว่าเราไม่ใช่นอสตราดามุส หรือ เจน ญาณทิพย์ (ซึ่งถ้าเป็นทั้งสองท่าน แน่นอนว่าก็ไม่ต้องมานั่งปวดหัวคาดเดากันไป เพื่อให้ถูกใจ ... สรรพากร) สถาบันคัสเม่ จึงขอยกเทคนิคเล็กน้อย สำหรับท่านที่กำลังกลุ้มใจ ว่าแล้วพอจะมีวิธีไหนบ้างมั้ยล่ะที่พอจะช่วยไม่ให้เราเสียเงินจากค่าปรับในเวลาต่อมาบ้าง

สำหรับท่านที่ต้องเสียภาษีกลางปี โดยอยากจะทดสอบความสามารถตัวเอง หรือโดยส่วนตัวแล้วชอบความตื่นเต้นจากการลุ้นระทึกกับทางสรรพากร นี่คือวิธีง่ายๆ ที่เราขอแนะนำให้ท่านใช้เพื่อเป็นข้อคำนึงในการประมาณการ เพื่อเตรียมยื่นภาษีกลางปี โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.51 ในการยื่น

>>> ประมาณการรายได้ให้มาก & ประมาณการค่าใช้จ่ายให้น้อย เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำประมาณการการเสียภาษีกลางปี เพื่อลดความเสี่ยงในการโดนค่าปรับ <<<

วิธีข้างต้น เราไม่ขอแนะนำ (แล้วจะพิมพ์ทำไม)

วิธีที่เราแนะนำคือ

1. กรณีที่ถ้าเราได้รับ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย มาหลายฉบับจากลูกค้าในช่วง 6 เดือนแรก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เราควรประมาณการไว้ก่อนว่า รายได้ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มว่าจะมีมากในช่วง 6 เดือนหลังเช่นกัน

2. การประมาณการรายได้ให้สูง สูงงงงง จะส่งผลให้กำไรสุทธิมีจำนวนที่สูงขึ้นตาม และกำไรที่เกิดจากรายได้ที่ประมาณเอาไว้สูง สูงงง ส่งผลให้ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของการโชว์กำไรขาดไปจากความเป็นจริง 25% ซึ่งเป็นกำไรที่เกิดขึ้นในตอนสิ้นปี ช่วยป้องกันในเรื่องของเบี้ยปรับ และช่วยไม่ให้เราเสียฟอร์ม

3. และกำไรที่สูง จะส่งผลให้ภาษีที่ต้องชำระจากการคำนวณจากกำไรดังกล่าว มีแนวโน้มว่าจะเกินกว่าครึ่งหนึ่งจากภาษีที่ได้ชำระเอาไว้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเทคนิคที่จะช่วยลดความเสี่ยงของค่าปรับกรณีที่เราโชว์กำไรน้อยไปจากความเป็นจริงในตอนสิ้นปี ได้เช่นกัน

4. ค่าใช้จ่าย ควรประมาณการตามหลักความเป็นจริง โดยคำนึงถึงประเภทธุรกิจร่วมด้วย
    เช่น กรณีเป็นธุรกิจขายตรง ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายจากการเดินทางที่เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกจะมีไม่มากนัก แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวในช่วง 6 เดือนหลังจะน้อยเช่นกัน เนื่องจากโดยตามธรรมชาติของประเภทธุรกิจนี้แล้ว การเดินทางไปพบลูกค้า การเดินทางเพื่อขายสินค้า เป็นสิ่งที่จำเป็นกับธุรกิจประเภทนี้ การที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเกิดขึ้นน้อยในช่วงครึ่งปีแรก เราสามารถมองได้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังการเดินทางมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว นักขายจำเป็นที่จะต้องสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นจากการพบปะลูกค้าโดยเดินทางเพื่อสร้างยอดขายเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลังนั่นเอง

5. ค่าใช้จ่าย ควรประมาณการตามหลักความเป็นจริง เพื่อลดงานในการปรับปรุงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในเวลาต่อมา นั่นหมายถึง ยิ่งเราประมาณการใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดรายการปรับปรุงค่าใช้จ่ายในเวลาต่อมาน้อยหรือไม่มีเลย (เพี้ยง...)

6. ควรเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง รายได้ ค่าใช้จ่าย ของปีปัจจุบันกับปีที่แล้ว ว่ามีจำนวนลดเพิ่มมากน้อยเพียงใด มีความต่างกันมากเกินไปหรือไม่ อย่าให้โอเวอร์จนเกินไป

นี่คือเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ จากสถาบันคัสเม่ค่ะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โดยส่วนใหญ่กิจการมักจะมอบงานนี้ให้กับสำนักงานบัญชี เพื่อลดความเสี่ยงและความตื่นเต้นจากการพบปะกับสรรพากรนั่นเอง

"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น