วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เรื่องน่ารู้ของภาษีมูลค่าเพิ่ม: วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เรื่องน่ารู้ของภาษีมูลค่าเพิ่ม: วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับวันที่เริ่มประกอบกิจการขายสินค้า/ให้บริการ หรือกรณีอยู่ระหว่างเตรียมการที่จะเริ่มประกอบกิจการ (เช่น อยู่ในช่วงการก่อสร้างโรงงาน ก่อสร้างอาคารสำนักงาน หรือกำลังติดตั้งเครื่องจักร) และได้มีการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 6 เดือนก่อนวันเริ่มประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการ และผู้ประกอบการยังสามารถจดทะเบียนฯ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษี (รายรับ) เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี


สำหรับเอกสารที่ต้องใช้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบดังนี้คือ

1. แบบคำขอที่ใช้ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ แบบ ภ.พ.01 ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ขอรับได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขต) หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำหรับในจังหวัดอื่นขอรับได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (อำเภอ) ทุกแห่ง

2. เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(1) คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.01 จำนวน 3 ฉบับ
(2) สำเนาทะเบียนบ้านหรือหลักฐานแสดงการอยู่อาศัยจริง พร้อมภาพถ่ายสำเนาดังกล่าว
(3) บัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร พร้อมภาพถ่ายบัตรดังกล่าว
(4) ภาพถ่ายสัญญาเช่าอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ (กรณีเช่า) หรือภาพถ่ายหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ และหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์เช่น เป็นเจ้าบ้าน, สัญญาซื้อขาย, คำขอหมายเลขบ้าน, ใบโอนกรรมสิทธิ์, สัญญาเช่าช่วง พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการและภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว
(5) หนังสือจัดตั้งห้างหุ้นส่วน พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว (กรณีเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล)
(6) หนังสือรับรองของนายทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัท พร้อมวัตถุประสงค์ หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ และใบทะเบียนพาณิชย์พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว (กรณีเป็นนิติบุคคล)
(7) บัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ และสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว
(8) แผนที่ซึ่งแสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขป และภาพถ่ายสถานประกอบการ
(9) กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทนต้องมีหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 10 บาท บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจพร้อมภาพถ่ายบัตรดังกล่าว โดยผู้รับมอบอำนาจต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป

ตอนต่อไป: กรณีที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ประสงค์จะขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว ต้องทำอย่างไร ?

KASME INSTITUTE
"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น