วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เรื่องน่ารู้ของภาษีมูลค่าเพิ่ม: ช่องทางการชำระภาษีและสถานที่ยื่น

เรื่องน่ารู้ของภาษีมูลค่าเพิ่ม:  
ช่องทางการชำระภาษีและสถานที่ยื่น

             ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว กับ "เรื่องน่ารู้ของภาษีมูลค่าเพิ่ม: หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม" ในวันนี้เรามาเรียนรู้เพิ่มเติมกับช่องทางการชำระภาษี และสถานที่ยื่นกันดีกว่านะคะ และในบทความนี้ท่านยังจะได้ทราบถึง

- กรณีมีการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียน VAT ไว้ จะต้องทำอย่างไร
- หลักฐานที่ต้องใช้ มีอะไรบ้าง
- จะได้รับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อไหร่

***เราไปเรียนรู้พร้อมกันเลยค่ะ***



จะยื่นชำระภาษีได้ที่ไหนนะ
1. ยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขต/อำเภอ) ในท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
2. กรณีมีหลายสาขาและได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบรวมคำนวณภาษีให้ยื่นแบบรวม ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขต/อำเภอ) ในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาที่ได้รับอนุมัติตั้งอย
3. ยื่นนทางอินเทอร์เน็ต www.rd.go.th ในเวลากำหนด

ชำระภาษี ได้ช่องทางใดบ้าง
1. ชำระเป็นเงินสด
2. ชำระด้วยเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายกรมสรรพากร โดยขีดฆ่าคำว่า ผู้ถือและหรือตามคำสั่ง
3. ชำระด้วยบัตรเครดิต
4. ชำระด้วยบัตรTax Smart Card
5. ชำระทาง e-payment หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการหรือบริษัทไปรษณีย์ไทย
* หมายเหตุ การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีสามารถยื่นผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ บริการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต)

หากมีการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว จะต้องทำอย่างไร

>> กรณีผู้ประกอบการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรไว้แล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งได้แก่ชื่อผู้ประกอบการชื่อสถานประกอบการ ที่ตั้งสถานประกอบการ (รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของที่ตั้งสถานประกอบการตามประกาศของทางราชการ) ประเภทกิจการที่กระทำเป็นปกติประเภทสินค้าหรือบริการที่กระทำเป็นส่วนใหญ่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร การเลิกกิจการ การเปลี่ยนแปลงประเภทของการประกอบการ การเปลี่ยนแปลงประเภทสินค้าหรือบริการ การเปลี่ยนแปลงการคำนวณภาษีรวมถึงการเปลี่ยนแปลงรายการอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนชื่อสถานประกอบการ การเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือผู้ถือหุ้น (ผู้มีอำนาจลงนาม) หรือการหยุดกิจการชั่วคราว (มีกำหนดระยะเวลาภายใน 1 ปี) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น ภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.09 พร้อมยื่นเอกสารประกอบการพิจารณา ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้

>> สำหรับกรณีย้ายสถานประกอบการ รับโอนกิจการ เพิ่มหรือลดสาขาของสถานประกอบการผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยกรอกแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบภ.พ.09 พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณา ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้
>> หากผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะภายในกำหนดเวลาต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

หลักฐานที่ต้องใช้ได้แก่อะไรบ้าง
1. แบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) จำนวน 4 ฉบับ
2. ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ฉบับจริงพร้อมภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว
3. สำเนาแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเดิม (ภ.พ.01) หรือสำเนาแบบคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการ (ภ.พ.09) ครั้งสุดท้าย
4. บัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรพร้อมภาพถ่ายบัตรดังกล่าว
5. หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท (กรณีเป็นนิติบุคคล) พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว
6. ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขอ งสถานประกอบการ แห่งที่ต้องการย้ายออก
7. ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของนิติบุคคลที่จะควบเข้ากัน
8. ภาพถ่ายสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์(เช่น ตึกแถว บ้าน อาคาร อาคารชุด พื้นที่ในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น) หรือ ภาพถ่ายหนังสือยินยอมให้ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ
9. แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขป พร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการแห่งใหม่
10. ภาพถ่ายหนังสือเลิกนิติบุคคล (กรณีแจ้งเลิกนิติบุคคล)
11. ภาพถ่ายใบมรณบัตร (กรณีผู้ประกอบการซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาถึงแก่ความตาย)
12. หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา) พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว
13. บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ หรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามพร้อมภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว
14. กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 10 บาท บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ พร้อมภาพถ่ายบัตรดังกล่าว โดยผู้รับมอบอำนาจต้องมีอายุ20 ปีขึ้นไป
15. กรณีหยุดกิจการชั่วคราว ต้องมีหนังสือจากผู้ประกอบการชี้แจงเหตุผลในการหยุดกิจการพร้อมประทับตรานิติบุคคลและลงนามโดยกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม

ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
>> เมื่อได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว กรมสรรพากรจะออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.20) ให้ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ระบุไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นเป็นต้นไป ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องนำใบทะเบียนดังกล่าว ไปแสดงไว้ ณ สถานประกอบการในสถานที่ที่เห็นได้ง่ายและเปิดเผย
>> กรณีที่ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องยื่นคำขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด ซึ่งใบแทนดังกล่าว ถือเป็นใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตอนต่อไป: เรียนรู้กับเอกสารที่ใช้ในการยื่นคำขอ "รับใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม" โปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ

KASME INSTITUTE
"หน้าต่างแห่งความรู้ ประตูสู่ความสำเร็จ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น