วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เรื่องน่ารู้ของภาษีมูลค่าเพิ่ม: หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เรื่องน่ารู้ของภาษีมูลค่าเพิ่ม: 
หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

กลับมาแล้วกับสาระน่ารู้ในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม ในวันนี้เรามาพบกับ "หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม" กันนะคะ

หน้าที่ของผู้จด VAT (จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีดังต่อไปนี้

1. มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการ และออกใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. จัดทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้แก่
 (1) รายงานภาษีซื้อ
 (2) รายงานภาษีขาย
 (3) รายงานสินค้าและวัตถุดิบ
3. ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามแบบ ภ.พ.30

แต่ถ้าหากทำธุรกิจที่อยู่ในข่ายต้องจดทะเบียนฯ แต่มิได้จดทะเบียน จะต้องมีความผิดอย่างไร ?

1. ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. เสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากยอดขายสินค้าหรือบริการ ตั้งแต่วันที่มีหน้าที่จดทะเบียนฯ เพื่อเป็นผู้ประกอบการฯ
3. เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระในแต่ละเดือนภาษี
4. เสียเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ
5. ไม่มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บในขณะที่ยังไม่ได้จดทะเบียนฯ ไปหักออกจากภาษีที่ต้องชำระได้ (ภาษีขาย)

"TIME LINE" ว่าด้วยเรื่องของกำหนดเวลายื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. การยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30
1.1 ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องยื่นแบบภ.พ.30 พร้อมชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี) เป็นรายเดือนทุกเดือนภาษีไม่ว่าจะมีการขายสินค้า หรือให้บริการในเดือนภาษีนั้นหรือไม่ก็ตาม โดยให้ยื่นแบบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
1.2 กรณีผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้แยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการ เว้นแต่ได้ยื่นคำร้องขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่สถานประกอบการอันเป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ และได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ก็สามารถยื่นแบบรวมกันได้ตั้งแต่เดือนภาษีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

2. การยื่นแบบใบขนสินค้าขาเข้า
ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้นำเข้าต้องยื่นแบบใบขนสินค้าขาเข้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ณ ด่านศุลกากรที่มีการนำเข้าสินค้า

3. การยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.36
3.1 กรณีเป็นผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบพร้อมชำระภาษีภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน ให้แก่
- ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว หรือ
- ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
3.2 กรณีเป็นผู้ทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือส่วนราชการซึ่งขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถูกยึดมาตามกฎหมายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบพร้อมชำระภาษีภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่ขายทอดตลาดฯ
3.3 กรณีเป็นผู้รับโอนสินค้าหรือเป็นผู้รับโอนสิทธิในบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 มีหน้าที่ต้องยื่นแบบพร้อมชำระภาษีภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่ครบกำหนด 30 วัน ที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น

ตอนต่อไป: พบกับช่องทางการชำระภาษี และสถานที่สำหรับการยื่นแบบ จะยื่นได้ที่ไหนบ้างนะ? โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ

สถาบันคัสเม่
KASME: THE INSTITUTE OF EFFECTIVE TRAINING FOR SMEs

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น