ภาษีซื้อต้องห้าม คืออะไร?
คือ ภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขาย ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ นำมาขอคืนภาษีซื้อ ซึ่งกฏหมายได้กำหนดลักษณะของภาษีซื้อต้องห้ามไว้ ในมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
ลักษณะภาษีซื้อต้องห้าม
1.ไม่มีใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษีสูญหาย หรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้
>> ไม่มีใบกำกับภาษี เพราะผู้ขายหรือผู้ให้บริการไม่ออกใบกำกับให้ หรือออกใบกำกับภาษี แต่ ระบุชื่อบุคคลอื่น
>> ใบกำกับภาษีสูญหาย หรือ ไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้
#วิธีแก้ไข: กรณีเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการจริง ให้ร้องขอใบแทนใบกำกับภาษีจากผู้ขายสินค้า/ผู้ให้บริการเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำภาษีซื้อไปหักออกจากภาษีขาย หรือ ขอคืนภาษีซื้อ
2.กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้อง หรือ ไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ตามที่กฏหมายกำหนด
>> ไม่ได้เป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
>> ข้อความไม่สมบูรณ์ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
3.ภาษีซื้อ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
4.ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน
5.ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี
6.ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)
(1) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่ง* และรถยนต์โดยสาร** ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้า หรือการรับบริการ ที่เกี่ยวข้องกับรถบนต์นั่ง และรถยนต์โดยสาร ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฏหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
(2) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ
(3) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้ หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
หรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(4) ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร หรือ อสังหาริมทรัพย์อื่น เพื่อนำมาใช้ในกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อดังกล่าวมีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายได้ ต่อมาผู้ประกอบการได้ขายหรือให้เช่าอาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์นั้น หรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน "3 ปี" นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้อนั้นจะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตั้งแต่ต้น
(5) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษี
ไม่ได้พิมพ์หรือจัดทำขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ #กรณีจัดทำใบกำกับภาษีด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
(6) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนดในใบกำกับภาษี ที่ไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
(7) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษี เป็นสำเนา (copy) เป็นภาษีซื้อต้องห้าม แต่ไม่รวมถึงใบกำกับภาษี ที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับ และใบกำกับภาษีมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ปรากฏอยู่ด้วย
(8) ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้คำนวณตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
(9) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้า หรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนำมาใช้ หรือ จะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภท ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด
(10) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูป ซึ่งรายการได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นภาษีซื้อต้องห้าม เว้นแต่รายการซึ่งได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
(11) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่ไม่ใช้รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสาร ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฏหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ไม่ให้ใช้บังคับสำหรับการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฏหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง
(12) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูป ซึ่งมีรายการ ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามมาตรา 86/4 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้พิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ กรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่ให้ใช้บังคับสำหรับใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่ได้เปลี่ยนสถานะจากรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐ ตามที่มีกฏหมายจัดตั้ง ทั้งนี้เฉพาะใบกำกับภาษีที่ได้ออกในช่วงระยะเวลา ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด
หมายเหตุ
*รถยนต์นั่ง = รถเก๋ง หรือ รถยนต์ที่ออกแบบสำหรับเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย และรวมถึงรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกัน ในลักษณะถาวรด้านข้าง หรือด้านหลังคนขับมีประตูหรือหน้าต่าง และมีที่นั่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าใด
**รถยนต์โดยสาร = รถตู้หรือรถยนต์ที่ออกแบบ เพื่อใช้ขนส่งคนโดยสารจำนวนมาก รวมทั้งรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน
The Institute of Effective Training for SMEs
www.kasmethai.com
------------------------------------------------
+++++++Next Seminar++++++
------------------------------------------------
20-21 มิถุนายนนี้ #อบรมครบ2วัน CPD นับชั่วโมงครบปี!
🌸สำรองที่นั่ง+อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง🌸https://forms.gle/46J7NoF4JiMXhpPW8
🌸ขอรายละเอียดหลักสูตรพร้อมตารางอบรมฉบับเต็ม🌸
✅ADD LINE: KASMETHAI
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น