วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน มีสิทธิลงรายจ่ายทางภาษีได้บางกรณี (อ้างอิงจาก กรมสรรพากร)

รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน มีสิทธิลงรายจ่ายทางภาษีได้บางกรณี

(อ้างอิงจาก กรมสรรพากร)

รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน (Capital Expenditure) เป็นรายจ่ายที่กิจการได้จ่ายไปเพื่อให้ได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเป็นการถาวรต่อกิจการของผู้ประกอบการไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งทรัพย์สินนั้นต้องมีประโยชน์ในการใช้งานได้เป็นระยะเวลายาวนานหลายปี (เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี) โดยรายจ่ายดังกล่าวไม่ได้จำกัดเฉพาะการซื้อทรัพย์สินเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้น ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม เช่น รายจ่ายเพื่อซื้อเครื่องจักร โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ต่อเติม ปรับปรุงหรือรีโนเวตสำนักงาน อาคาร เป็นต้น

กรณีดังกล่าว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ผู้ประกอบการ) ไม่สามารถนำรายจ่ายในปีที่ซื้อทรัพย์สิน หรือต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับกิจการมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายที่ได้ซื้อทรัพย์สินนั้นมาเฉลี่ยตามจำนวนปีที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ซึ่งตามหลักกฏหมายภาษีอากร เรียกว่า การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ซึ่งกิจการสามารถหักได้ตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 65 ทวิ(2) และพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 ได้ปกติ

รายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ เป็นรายจ่ายที่ทำให้อายุการใช้งานของทรัพย์สินเดิมยาวนานขึ้น หรือปรับปรุงสภาพของทรัพย์สินที่กิจการมีอยู่แล้วให้มีสภาพดีขึ้น ประโยชน์การใช้มีมากขึ้นกว่าเดิมที่เป็นอยู่ โดยมีลักษณะแตกต่างกัน แยกได้ดังนี้

1.รายจ่ายในการต่อเติม หมายถึง รายจ่ายเพื่อการต่อเติมส่วนต่าง ๆ ของทรัพย์สิน เช่น รายจ่ายในการต่อเติมอาคาร จากเดิมซึ่งมี 4 ชั้น เป็น 6 ชั้น ค่าต่อเติมหลังคาของรถกระบะ ค่าต่อเติมอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เป็นต้น

2.รายจ่ายในการเปลี่ยนแปลง หมายถึง รายจ่ายในการเปลี่ยนแปลงสภาพของทรัพย์สิน เช่น รายจ่ายในการกั้นห้อง ค่าทุบทำลายฝากั้นห้อง เจาะประตู หน้าต่าง ค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงรถยนต์บรรทุกหรือรถยนต์โดยสารให้เป็นรถยนต์นั่ง เป็นต้น

3.รายจ่ายในการขยายออก หมายถึง รายจ่ายในการขยายทรัพย์สินออกไป ซึ่งมักขยายออกไปในลักษณะของการขยายขนาดของทรัพย์สิน เช่น รายจ่ายในการขยายอาคารโรงงาน เป็นต้น

4.รายจ่ายในการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน หมายถึง รายจ่ายในการทำให้คุณภาพหรือสภาพของทรัพย์สินดีขึ้นไปกว่าสภาพ ณ วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา ที่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมหรือบำรุงรักษา เช่น รายจ่ายในการเปลี่ยนซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมสั่งงานหรือควบคุมเครื่องจักร เป็นต้น

รายจ่ายในการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน มีความคล้ายคลึงกับรายจ่ายในการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมค่อนข้างมาก ซึ่งในการพิจารณารายจ่ายในการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ให้พิจารณาว่า รายจ่ายนั้นเป็นการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ชำรุดให้ใช้งานได้ตามเดิม โดยไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินนั้นมีสภาพดีขึ้นกว่าเดิม เช่น การเปลี่ยนยาง อะไหล่รถยนต์ แทนของเดิมที่ใช้งานมานาน หรือซ่อมแซมทรัพย์สินให้ใช้งานได้ตามเดิม เป็นต้น

ในปัจจุบัน นอกจากผู้ประกอบการจะนำรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนนั้นมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ตามกฏหมายแล้ว ผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 304)ฯ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2560 ยังได้รับสิทธิในการหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนดังกล่าวเพิ่มได้อีก 0.5 เท่า โดยให้เฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวในจำนวนเท่าๆกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามประเภทของทรัพย์สิน ซึ่งทรัพย์สินที่จะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้เพิ่มขึ้นนั้น จำกัดไว้ 4 ประเภท ได้แก่

(1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์
(2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์
(3) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร แต่ไม่รวมรถยนต์นั่นหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฏหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ที่มิใช้ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า และ
(4) อาคารถาวร (ไม่รวมที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย) สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ให้แก่ผู้ประกอบการนี้เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวมากยิ่งขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น