วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ข่าวสารจากกรมสรรพากร: หลักเกณฑ์การเปลี่ยนผู้ประกอบการจาก"บุคคล"เป็น"นิติบุคคล"

หลักเกณฑ์การเปลี่ยนผู้ประกอบการจาก "บุคคล" เป็น "นิติบุคคล"

อ้างอิงจาก: กรมสรรพากร


ในการประกอบธุรกิจนั้น ส่วนใหญ่สิ่งแรกๆที่นึกถึง คือ การจดทะเบียนบริษัทเพื่อจัดตั้งเป็นนิติบุคคล จะเห็นได้ว่าปัจจุบันการดำเนินกิจการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้ประกอบการรายใหม่ New Start-up หรือแจ้งเป็นผู้ประกอบการบัญชีชุดเดียว ถือเป็นนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี รวมทั้งยังได้รับสิทธิในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และยังช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจให้มีการขยายตัวและเติบโตอย่างมีศักยภาพอีกด้วย สำหรับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในรูปของบุคคลธรรมดา หากตัดสินใจที่จะเปลี่ยนเป็นนิติบุคคล จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้เป็น 2 กรณี

กรณีบุคคลธรรมดา
ซึ่งได้แก่ "บุคคล" ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. บุคคล (ผู้โอน) ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามราคาตลาดให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ผู้รับโอน) เพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

2. บุคคล (ผู้โอน) ต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ผู้รับโอน) ไม่น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่โอนให้

3. บุคคล (ผู้โอน) ต้องไม่โอนหุ้นที่เกิดจากการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ซึ่งได้รับยกเว้นรัษฎากรในราคาตำ่กว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี

4. บุคคล (ผู้โอน) และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ผู้รับโอน) ต้องร่วมกันจัดทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยบุคคล (ผู้โอน) ต้องดำเนินการ

4.1 ส่งมอบหนังสือรับรองต่อเจ้าพนักงานที่ดินในท้องที่ที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะโอน เว้นแต่ ผู้โอนประสงค์จะชำระภาษีอากร

4.2 ส่งมอบหนังสือรับรองต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่บุคคล (ผู้โอน) มีภูมิลำเนา หรือสถานประกอบการตั้งอยู่ หรือในเขตท้องที่ที่อสังหาริมทรัพย์ที่โอนตั้งอยู่

กรณีนิติบุคคล
มีรายจ่ายอันเกิดจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 รายจ่ายดังกล่าวจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวนร้อยละ 100 เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. กรณีจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ และที่ประชุมจัดตั้งบริษัทได้ให้สัตยาบันไว้

2. กรณีจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้และมีการรับรองโดยหุ้นส่วนผู้จัดการ

3. กรณีค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชีต้องเป็นค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชีตามกฎหมาย ว่าด้วยการบัญชี

การประกอบกิจการในรูปของนิติบุคคล นอกจากได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งที่เกี่ยวกับภาษีและไม่เกี่ยวกับภาษีแล้ว ยังได้รับความน่าเชื่อถือ ในการดำเนินธุรกิจ เป็นที่ยอมรับกับคู่ค้าได้มากกว่า บุคคลธรรมดา อีกด้วย อย่างนี้แล้ว ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาก็น่าจะรีบตัดสินใจเปลี่ยนเป็นผู้ประกอบการในรูปของนิติบุคคลกันดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น